“รมว.ทวี”ยังไม่ทราบ”ทักษิณ”ผ่าตัดด้วยโรคใด ย้ำยึดแพทย์เป็นหลัก ไม่มีสิทธิแทรกแซง !!

8574

รมว.ยุติธรรม เผย ยังไม่ทราบ”ทักษิณ ชินวัตร” ผ่าตัดด้วยโรคใด ส่วนการรักษาตัวนอกเรือนจำต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก รัฐมนตรีไม่มีสิทธิแทรกแซง

วันที่ 21 ก.ย. 66 ที่ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงอาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอเรื่องมาถึงระดับปลัดกระทรวงยุติธรรมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่ตามหลักการแล้วเป็นเรื่องของแพทย์และ ผู้บัญชาการเรือนจำฯ แต่ถ้ามีการรักษาตัวภายนอกเรือนจำเกินกว่า 30 วัน จะต้องมีเอกสารประกอบจากทางแพทย์ที่ทำการรักษา เพื่อเสนอพิจารณาต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่าจะให้นอนรักษาตัวต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่จะต้องชี้แจง ส่วนหลังจากนี้หากนายทักษิณจะต้องนอนพักรักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจอีกกี่วันตนยังไม่ได้รับรายงานและยังไม่ได้มีการพูดคุยกับทางผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า สำหรับการผ่าตัดของนายทักษิณ ที่ผ่านมาล่าสุดตนยังไม่ทราบว่าเป็นการผ่าตัด เนื่องด้วยโรคอะไรแต่จะมีรองปลัดกระทรวงยุตธรรมที่กำกับดูแลอยู่แล้ว ส่วนหากจะมีการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำต่อเนื่องมากกว่า 30 วันทางราชทัณฑ์ก็มีระเบียบและกฎกระทรวง ดังนี้ หากเกินกว่า 30 วัน จะต้องมีความเห็นจากทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ,หากเกินกว่า 60 วันจะต้องมีความเห็นจากทางปลัดกระทรวงยุติธรรมและหากนานเกิน 120 วันจะต้องมีความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

“แต่เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับเรื่องของการรักษาพยาบาล เราคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และให้ความสำคัญต่อความเห็นแพทย์ หากแพทย์มีความเห็นคำสั่งอย่างไร ผบ.เรือนจำฯ ก็ไม่สามารถก้าวก่ายได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ต้องขังที่ได้รับอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำจำนวนมาก แต่ยังไม่พบมากเท่าไรในส่วนที่ต้องมีการนอนพักรักษาตัวเกิน 120 วัน”

เมื่อถามว่าที่ผ่านมามีหลายองค์กรภาคส่วนได้ยื่นเอกสารมายังกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้มีการเปิดเผยภาพการรักษาตัวของนายทักษิณ มีความเป็นไปได้อย่างไรนั้น พ.ต.อ.ทวี เผยว่า อยากเรียนว่ามาตรฐานของผู้กระทำความผิด เราจะมีการควบคุมหรือกักขังคนไม่ให้หลบหนีหรือไปก่อเหตุร้าย ซึ่งหลายๆประเทศก็มีลักษณะการควบคุมโดยสองหลักการนี้ จึงไม่ต้องมีการนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของต่างประเทศ พร้อมแจ้งไปยังประชาชนว่ากฎหมายของราชทัณฑ์ที่ได้มีการแก้ไขในปี พ.ศ. 2560 ก็ได้แก้ไขเพื่อให้สอดรับกับสหประชาชาติ หรือทางสากล แต่ถือว่ากฎหมายของราชทัณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความสมบูรณ์ อีกทั้งราชทัณฑ์เป็นวิชาชีพเฉพาะ และเป็นอำนาจโดยตรงของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รัฐมนตรีไม่สามารถแทรกแซงได้

#thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์