หน้าแรกทั่วไทยเพิ่มมูลค่าขยะเหลือใช้ทางการเกษตร

เพิ่มมูลค่าขยะเหลือใช้ทางการเกษตร

“เปลือกโกโก้”วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร วช. สนับสนุนงานวิจัยภายใต้โครงการพื้นที่วิจัย CBR ภาคเหนือ เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชน

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ณ ศูนย์การเรียนรู้ทางภาษาด้วยตนเอง อ.แม่สอด จ.ตาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายธีรวัฒน์ บุญสม ผ.อ.กองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวหลังนำคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสำเร็จการดำเนินงานโครงการวิจัย เรื่อง การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (เปลือกโกโก้) ของเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ในพื้นที่จ.ตาก ภายใต้ โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research : CBR” ว่า เป็นการสร้างกลไกการใช้คนในท้องถิ่นในการพัฒนาศักยภาพร่วมกับภาคีเครือข่ายวิจัย และยกระดับผลิตภัณฑ์ ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย โดยมี นางสวาท ไพศาลศิริทรัพย์ หัวหน้าโครงการฯ น.ส.พรรณทิพย์ ชัยชนะ กรรมการสภาวิทยาลัยตาก เจ้าหน้าที่วิทยาลัยชุมชนตาก พร้อมคณะนักวิจัย ให้การต้อนรับ

นายธีรวัฒน์ เปิดเผยว่า เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่พบได้ทั่วไปอย่างโกโก้ในพื้นที่จ.ตาก นั้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก ตลอดจนการใช้ฐานจากการทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่คำนึงถึงระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพต่อยอดไปสู่สินค้าเกษตรชีวภาพ ที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย ซึ่งโครงการวิจัยได้เข้ามามีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง

ด้าน นางสวาท กล่าวว่า ทีมนักวิจัยได้ศึกษาบริบทพื้นที่ และเกษตรกรในพื้นที่ อ.พบพระ จ.ตาก มีสมาชิก ปลูกโกโก้ 101 ราย พื้นที่ปลูกประมาณ 1000 ไร่ เมื่อผลผลิตมากขึ้น ขยะในพื้นที่ก็มากขึ้นตามมา เพราะเปลือกโกโก้จะถูกทิ้งหลังการเก็บเกี่ยวและมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆประมาณ 10-15 ตัน ต่อเดือน จึงคิดวิธีรับมือกับปัญหาเปลือกโกโก้ ที่เป็นขยะเหลือใช้ทางการเกษตร ว่าจะทำอย่างไรให้มูลค่าเพิ่มขึ้น จนมาจบที่การนำมาแปรรูปใน 3 รูปแบบ ดังนี้ 1.ทำอาหารสัตว์ 2.ทำดินปลูก และ 3.ทำถ่านไบโอชาร์ (Biochar) และจากผลการพัฒนาถ่ายทอดรูปแบบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเปลือกโกโก้ ไปสู่การใช้ชีวิตแบบ Zero Waste คือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออร์แกนิค บ้านห้วยนกแล หมู่ที่ 9 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ หลังร่วมทดลองแปรรูปผลิตภัณฑ์เปลือกโกโก้เป็นอาหารสัตว์ พบว่าช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงโคได้ถึงร้อยละ 14. 81 เมื่อเทียบอัตราการเจริญเติบโตกับโคพื้นเมือง สามารถลดต้นทุนรายจ่ายได้ถึงตัวละประมาณ 1,000 บาท แสดงให้เห็นว่าคุณภาพอาหารที่ใช้ต่อโคทั้ง 2 กลุ่ม มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดรายจ่ายในครัวเรือน ไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจ หมุนเวียนที่เน้นการแปลงของเหลือใช้ทางการเกษตรหรือขอเสียให้เป็นแหล่งรายได้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่ นายปรเมธ แสงรุ่งโรจน์ทวี ผู้ผลิตดินปลูกจากเปลือกโกโก้ กล่าวว่า เปลือกโกโก้มีธาตุอาหารพืชที่เหมาะสมสำหรับการทำปุ๋ยเพื่อการเกษตร เป็นการนำเปลือกโกโก้ที่เหลือทิ้งในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ ถือได้ว่าโครงการวิจัยนี้เป็นจุดเริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ แต่จะเป็นการทดลองที่ช่วยขยายผลไปสู่การพัฒนาและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะเหลือใช้ทางการเกษตรได้อย่างสูงสุด ท่านใดสนใจ ปุ๋ยตราดินดี 5 ดาว ที่ทำจากเปลือกโกโก้ สามารถติดต่อได้ที่ เบอร์ 0843803383

ทั้งนี้ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้ทรงคุณจาก วช. กล่าวว่า ทีมวิจัยเปลือกโกโก้ควรศึกษาเรื่องวัตถุดิบอาหารและสารอาหารเสริมในอาหารสัตว์เพื่อประกอบเป็นสูตรอาหารให้มีคุณภาพดีขึ้นหรือมีคุณค่าทางโภชนะที่เหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการของสัตว์ และในเมื่อทำมาแล้วจะเพิ่มช่องทางตลาดและเพิ่มกำไรให้กับชุมชนได้มากขึ้นอย่างไรในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (เปลือกโกโก้) มาเพิ่มมูลค่าต่อไป

ลักษณะศักดิ์ โรหิตาจล
ข่าว/ภาพ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img