ตร.เชิญผู้ประกาศสาวถูกหลอกดูดเงินล้านร่วมแถลงเตือนภัยออนไลน์

10115

ตร.เตือนภัยออนไลน์แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกดูดเงินผู้ประกาศข่าว สูญเงิน 1.2 ล้าน และหลอกนักศึกษา เรียกค่าไถ่ผู้ปกครอง

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยพล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.ชัยณรงค์ บุญด้วง รองผบก.ภ.จว.สระแก้ว และน.ส.ประวีณมัย บ่ายคล้อย ร่วมกันแถลงข่าวเตือนภัยออนไลน์แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกดูดเงินผู้ประกาศข่าว สูญเงิน 1.2 ล้าน และหลอกนักศึกษา เรียกค่าไถ่ผู้ปกครอง

พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวว่า กรณีนี้ได้มีคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรศัพท์หาเหยื่อแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน หลอกให้อัพเดทข้อมูลการชำระภาษีที่ดิน จากนั้นคนร้ายได้ให้เหยื่อเพิ่ม เพื่อนไลน์ และให้กดลิ้งก์เข้าเว็บไซต์กรมที่ดินปลอม ต่อมาให้กดดาวน์โหลดที่ข้อความโฆษณาตรากรมที่ดิน เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชั่นควบคุมโทรศัพท์ของเหยื่อ คนร้ายได้ให้เหยื่อดำเนินการตามขั้นตอน โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยและ ปกป้องข้อมูลของเหยื่อ และให้เหยื่อยืนยันตัวตน โดยให้เหยื่อกรอกข้อมูลรหัสส่วนตัวที่ตั้งขึ้นสำหรับเข้าแอปพลิเคชัน เป็นตัวเลข จํานวน 6 ตัว จํานวน 2 ครั้ง เพราะจะใช้รหัสนี้ทุกครั้งในการเข้าแอปพลิเคชัน (ทำให้เหยื่อหลงไปตั้งรหัสซ้ำกับแอปพลิเคชั่นธนาคารจริงหรือตั้งรหัสแอปพลิเคชันธนาคารตรงกับ วันเดือนปีเกิด หรือเลขโทรศัพท์ หรือบัตรประชาชน) แล้วให้กดยินยอมที่หน้าจอ 3 จุด จากนั้นหน้าจอโทรศัพท์ของเหยื่อปรากฏการทำงานเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยคนร้ายได้ชวนเหยื่อคุย และบอกให้รอจนครบ 100% ระหว่างชวนคุยนั้น คนร้ายจะนำรหัสที่ได้ หรือหมายเลขโทรศัพท์ หรือวันเดือนปีเกิดกดเข้า แอปธนาคาร หรือหลอกให้เหยื่อกดเข้าแอปธนาคารด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อจะได้เห็นเลขรหัส จากนั้นคนร้ายได้หลอกให้เหยื่อ สแกนใบหน้าโดยอ้างว่ายืนยันข้อมูลบุคคลและอัพเดทข้อมูลในกรมที่ดิน แต่ความจริงเป็นการปรับยอดการโอนในแอปให้ สูงขึ้นหรือโอนเงินเกิน 50,000 บาทต่อครั้ง แล้วคนร้ายก็จะโอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อออกไป รวมทั้งได้ทำรายการ ถอนเงินสดจากบัตรเครดิตมาใส่ในบัญชีธนาคาร แล้วถอนเงินออกไปจนหมด

จุดสังเกต
ของปลอม
1.ไลน์เป็นชื่อบัญชีส่วนบุคคล และจะไม่ขอเพิ่มเพื่อนโดยเจ้าหน้าที่
2.นามสกุลของโดเมนของเว็บไซต์ มักลงท้ายด้วย .CC และไม่ได้ให้โหลดผ่าน Google Play (ให้กด 3 จุด ด้านล่างขวา และบอกให้กดโหลด “ช่องทางอื่น” หรือ “chrome”)

ของจริง
1.ไลน์เป็นชื่อ Smart Lands ซึ่งเป็นบัญชีทางการ (Official) ไม่สามารถโทรคุยกับคนทั่วไปได้

  1. แอปพลิเคชันของจริงจะโหลดได้จาก Google Play หรือ App store เท่านั้น

วิธีป้องกัน
1.หาช่องทางตัดสาย แล้ว “เช็ค ก่อน เชื่อ” คือโทรหาเบอร์ call center หน่วยงานที่คนร้ายแอบอ้างก่อนว่า “จริง หรือไม่” กรมที่ดินเบอร์ 02-141-5555 หรือกรมพัฒนาธุรกิจ เบอร์ 1570, 02-547-4441 หรือการไฟฟ้า เบอร์ 1129 ซึ่งเป็น 3 แอป ยอดนิยมในการหลอก เพื่อสอบถามว่ามีจริง หรือไม่ หรือโทรมาที่ 1441 ก่อนดำเนินการใดๆ
2.ไม่กดลิ้งก์ใน SMS หรือไลน์แปลกปลอม จากนั้นที่เราไม่รู้จักตัวจริงหรือไลน์ทางการของหน่วยงานนั้นมาก่อน และที่สำคัญ อย่าติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ตามคำแนะนำเป็นอันขาด หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชั่นใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play หรือ Apple Store โดยเข้าไปค้นหา “ชื่อ” ด้วยตนเอง ห้ามบันทึกลิ้งก์ (Copy) จากคนที่เราไม่รู้จักให้มาแล้วนำไปวางในช่องเว็บเบราว์เซอร์เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชัน

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ กล่าวว่า สำหรับคดีคุณประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าวที่โดน คนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์แล้วโอนเงินออกไปนั้น ถือได้ว่าคุณประวีณมัยรู้ตัวว่า ถูกหลอกและสามารถโทรศัพท์ไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินของธนาคาร สายด่วนธนาคารเพื่อระงับบัญชีม้าไว้ได้อย่างรวดเร็ว ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 จากนั้นได้เข้าไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ภาษีเจริญ ภายในเวลา 72 ซม. และพนักงานสอบสวนได้มีหนังสือภายในเวลาไม่เกิน 7 วัน สั่งให้ธนาคารอายัดเงินไว้ ทำให้สามารถอายัดบัญชีได้ทันบางส่วน จากนั้นได้มีการส่งเรื่องมาจาก บก.สอท.1 เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนต่อ ซึ่งขณะนี้ บก.สอท.1 ได้ดำเนินการอายัดบัญชีม้าทั้ง 6 แถว รวม 24 บัญชี ไว้ได้ และได้เรียกเจ้าของบัญชีทุก บัญชีให้มาชี้แจง เพื่อพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาต่อไป ทั้งนี้ได้ออกหมายเรียกและหมายจับไปแล้วกว่า 10 ราย และในวันเดียวกันได้รับแจ้งการถูกหลอกลวงแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินประมาณ 3 ราย หนึ่งในนั้นมีผู้เสียหายเป็นข้าราชการตำรวจอยู่ที่จังหวัดเชียงราย มีผู้เสียหายในพื้นที่จังหวัดลำปาง ซึ่งทางพื้นที่ได้รับผิดชอบเรื่องคดีเรียบร้อยแล้ว และมีในพื้นที่ของบก.สอท.3 อีก 1 คดี รวมมีผู้เสียหายถูกหลอกลวงในลักษณะเดียวกันประมาณ 10 ราย จากการตรวจสอบบัญชีม้าพบว่ากลุ่มคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นกลุ่มเดียวกัน

น.ส.ประวีณมัย กล่าวว่า คนร้ายได้ติดต่อมาหาตนผ่านช่องทาง LINE โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ต้องการให้ตนอัพเดทข้อมูลที่ดิน โดยมีทางเลือกให้สามารถไปดำเนินการที่สำนักงานที่ดินจังหวัดซึ่งจำกัดวันละ 50 คน หรือจะใช้ช่องทางออนไลน์ก็ได้ โดยเมื่อตนตกลงใช้บริการช่องทางออนไลน์ คนร้ายจะให้แอด LINE ที่ใช้ชื่อของกรมที่ดิน ก่อนทำทีคำแนะนำ ให้ลิ้งก์เว็บไซต์ปลอมของกรมที่ดิน จากนั้นจะให้ลงทะเบียนบนหน้าเว็บไซต์เพื่ออัพเดทข้อมูลที่ดิน โดยต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคล เลขบัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงตั้งรหัส pin 6 หลัก ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นหลงเชื่อคือคนร้ายมีข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินของตนเองถูกต้องทั้งหมด ทั้งจำนวนระวางและเลขโฉนด นอกจากนี้ ระหว่างการใส่ข้อมูลคนร้ายจะพยายามชวนคุย และให้ตนเองสแกนใบหน้า โดยอ้างว่าเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยจากหน่วยงานภาครัฐ และสังเกตเห็นว่า ว่าระหว่างนั้นโทรศัพท์มือถือใช้งานไม่ได้ชั่วคราว

ทั้งนี้ จุดที่ทำให้ฉุกใจว่าอาจถูกมิจฉาชีพหลอกลวง คือ คนร้ายให้ข้อมูลเรื่องภาษีเงินได้ไม่ถูกต้อง เมื่อขอชื่อคนร้ายไปตรวจสอบก็พบว่ามีชื่อเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดกรมที่ดิน ในจังหวัดภูเก็ตจริง แต่ไม่ตรงกับข้อมูลที่คนร้ายอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินส่วนกลางที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จึงรีบหยุดดำเนินการ และรีบตรวจสอบเงินในบัญชีจำนวน 3 บัญชี พบว่ามียอดเงินที่โอนเข้าบัญชีตัวเองซึ่งเกิดจากคนร้ายขออนุมัติวงเงินสดเข้าบัญชีตนเอง ก่อนถอนเงินออกจากบัญชีไป รวม 3 บัญชี สูญเงินกว่า 1.2 ล้านบาท จึงรีบแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัญชี จากนั้นทางธนาคารได้ให้เคสไอดีเพื่อนำไปแจ้งความกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสืบสวนดำเนินคดี และในวันนี้ตนเองก็ได้นำข้อมูลของผู้เสียหายรายอื่นๆมามอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

น.ส.ประวีณมัย กล่าวว่า ถึงแม้เราจะรู้แล้วว่ามีมิจฉาชีพ แต่โอกาสของการพลั้งเผลอเกิดขึ้นได้ ซึ่งผู้เสียหายมีหลากหลายอาชีพ ใครที่มีความรู้ หรือใครที่อาจจะไม่รู้ก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้เหมือนกัน เพราะความแยบยลของการก่อเหตุของกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฉะนั้นที่ทางตำรวจเน้นย้ำว่า “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพ ส่วนตัวถือว่าเป็นบทเรียนจริงๆ เพราะมั่นใจมากว่าเราไม่มีทางที่จะโดนหลอกแน่ๆ เนื่องจากได้ติดตามเคสก่อนหน้านี้ที่ตำรวจเตือนหรือเรารายงานข่าวเองทำให้ทราบอยู่แล้วว่ามิจฉาชีพ ไม่ได้ทำง่ายๆ ต้องมีวิธีหลายขั้นตอน เราจึงเชื่อว่าจะไม่ถูกหลอกตามขั้นตอนนั้นๆ แต่เมื่อมาเจอกับตัวเองทำให้รู้ว่ารูปแบบของมิจฉาชีพที่ทำให้เราเชื่อตั้งแต่แรกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดิน และมีข้อมูลที่ดินของเราครบหมด ประกอบกับเวลานั้นได้ทำงานอื่นไปด้วยจึงไม่ได้ตั้งใจดูหน้าจอโทรศัพท์ ยอมรับว่าส่วนนี้เป็นบทเรียนที่เราพลาด จึงอยากเตือนว่ามิจฉาชีพมีวิธีการหลอกลวงให้เราหลงเชื่ออย่างแยบยล

พล.ต.ต.ธีรเดช ได้กล่าวถึงกรณีคนร้ายแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกลวงนักศึกษาให้เรียกค่า ไถ่ผู้ปกครองว่า โดยมีแผนประทุษกรรมกล่าวคือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างตัวเองเป็น ปปง. แล้วแจ้งผู้เสียหายว่าพัวพันกับยาเสพติด ให้น้องไปเช่าอยู่ที่อื่นเพื่อความปลอดภัย เมื่อน้องเปิดห้องที่พักแล้ว จะสั่งการควบคุมโดยวิดีโอคอลคุยกับน้อง ว่าให้น้องทำ ตามคำสั่งไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดี โดยคนร้ายอีกทีมติดต่อกับแม่หลอกว่าน้องถูกจับเรียกค่าไถ่ โดยให้แม่โอนเงินมาเพื่อให้ น้องปลอดภัยจำนวน 3 ล้านบาท พบว่าคนร้ายทั้งหมดสั่งการอยู่ประเทศกัมพูชา จึงขอแจ้งเตือนประชาชนโดยเฉพาะ พ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา ขอให้ระมัดระวังอย่ารับสายโทรศัพท์แปลกๆ โดยเฉพาะที่ขึ้นต้นด้วยเครื่องหมายบวก (+) เช่น +675xxxxxxx โดยเราสามารถตั้งค่าโทรศัพท์ให้บล็อกสายจากต่างประเทศได้ โดยกด 1381# โทรออก เป็นการ ระงับสายโทรเข้าจากต่างประเทศ หากรับสายแล้วก็ขอให้วางสายทันที อย่าคุยต่อ และขอให้ผู้ปกครองเข้าไปตรวจสอบการ พูดคุยของบุตรหลานอย่าให้หลงไปพูดคุยทางโซเชียลมีเดีย กับมิจฉาชีพ นอกจากนั้น กรณีที่ประชาชนหลงไปเปิดบัญชีม้า ให้กับมิจฉาชีพมีความผิดตามกฎหมาย ขณะนี้ได้จับกุมผู้กระทำผิดแล้วหลายราย

พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวว่า กลุ่มขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นกลุ่มนายทุนต่างชาติที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนแถบประเทศเพื่อนบ้าน ได้พยายามจ้างคนไทยบางคนที่เห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัวไปเป็นลูกจ้างในการเป็นพนักงานของเขา และมีการใช้เงินซื้อข้อมูลซึ่งเป็นสิ่งที่น่าห่วง เพราะจากการสืบสวนพบว่ามีพนักงานบริษัท, ธนาคาร หรือแม้กระทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไปหลงติดพนันออนไลน์ก็จะแอบเอาข้อมูลมาขายในตลาดมืดของกลุ่มขบวนการที่ตำรวจกำลังสืบสวนอยู่ จึงอยากให้หัวหน้าหน่วยหรือหัวหน้าบริษัทต่างๆ ที่เก็บข้อมูลของประชาชนจะต้องมีมาตรการในการป้องกันข้อมูลรั่วไหล ตำรวจมีความพยายามประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในการปราบปรามกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สำหรับกรณีดังกล่าว ทางอธิบดีกรมที่ดินได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาการควบคุมหรือเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ คนร้ายคอลเซ็นเตอร์มีการเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างต่อเนื่องอีกทั้งยังมีการติดตามมาตรการและนโยบายต่างๆ จากภาครัฐเพื่อนำไปใช้สร้างความเชื่อถือให้เหยื่อตายใจ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามสืบสวนติดตามจับกุมมาโดยตลอด แต่มักจะหยุดที่กลุ่มบัญชีม้าซึ่งกลุ่มคนร้ายใช้วิธีว่าจ้างชาวบ้านหรือประชาชนในชนบทเปิดบัญชีให้ ส่วนบัญชีม้าแถวถัดไปมักถูกแปลงเงินเป็นสกุลดิจิทัลเพื่อโอนออกนอกประเทศทำให้การสืบสวนติดตามทำได้ยาก หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจจะมีการหารือกับภาคการเงินการธนาคารเกี่ยวกับมาตรการหน่วงเวลาในการโอนเงินสกุลดิจิทัลออกนอกประเทศ เพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์

พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มีความห่วงใยประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบว่าปัจจุบันยังมีคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอบอ้างกรมที่ดิน ตั้งแต่เดือน มี.ค.2566 ถึงปัจจุบัน มีกว่า 800 เคส โดยเฉพาะเดือน ก.ค.2566 ที่ผ่านมา มีการหลอกหลวง โดยวิธีการดังกล่าวมากถึง 190 เคส เพื่อให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์เพื่อโอนเงินออกไป สำหรับสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.-5 ส.ค.66 รับแจ้ง 3,697 คดี มูลค่าความเสียหาย 445,325,521.68 บาม ส่วนวันที่ 6-12 ส.ค.66 รับแจ้ง 4,063 คดี มูลค่าความเสียหาย 411,045,379.25 บาท พบว่ามีคดีเพิ่มขึ้น 366 คดี มูลค่าความเสียหายลดลง 34,280,142.43 บาท

#thaitabloid