กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.00-34.80 รอผลประชุมสามธนาคารกลางหลัก

253

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.00-34.80 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.40 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายผันผวนในช่วง 33.75-34.72 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดปรับสถานะการลงทุนก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)และธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐฯที่ร่วงลงบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะแข็งแกร่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯฟื้นตัวขึ้นซึ่งสะท้อนว่าผู้ร่วมตลาดลดทอนความคาดหวังเกี่ยวกับความเร็วที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในปี 67 ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 17 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 14,668 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุว่า คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bp สู่ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. ซึ่งเรามองว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายแม้เฟดอาจจะยังไม่ส่งสัญญาณยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นในครั้งนี้เพื่อรอข้อมูลจนกว่าจะแน่ใจว่าเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ท่าทีดังกล่าวอาจหนุนค่าเงินดอลลาร์เพียงชั่วคราวเท่านั้น ตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขการใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลเดือนมิ.ย. โดยเราประเมินว่าภาวะ Soft landing ของเศรษฐกิจสหรัฐฯควบคู่ไปกับการชะลอตัวของเงินเฟ้อจะเป็นฉากทัศน์ที่เป็นลบที่สุดสำหรับเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ คาดว่าอีซีบีจะขึ้นดอกเบี้ย 25bp เป็น 3.75% ในวันที่ 27 ก.ค. ส่วนผลประชุมบีโอเจในวันที่ 28 ก.ค.นักลงทุนคาดว่าจะคงนโยบายตามเดิม อนึ่ง เรามองว่าการดิ่งลงของค่าเงินเยนท้ายสัปดาห์ก่อนส่งผลให้ความเสี่ยงของเงินเยนเบ้ไปทางด้านแข็งค่ากรณีบีโอเจสร้างความประหลาดใจด้วยการปรับมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve control)

สำหรับปัจจัยในประเทศ ผู้ว่าการธปท.ระบุว่ายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยมองว่าเงินเฟ้ออาจกลับมาสูงขึ้นในระยะถัดไปและควรมีการสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ทั้งนี้ ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกจะขยายตัว 2.9% และครึ่งปีหลังจะเติบโตในอัตรา 4.2% โดยในมุมมองของธปท.เห็นว่านโยบายต้องให้น้ำหนักหลักไปที่การรักษาเสถียรภาพมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนเงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนต่อไป เราคาดว่าข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯและการเมืองในประเทศจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนกระแสเงินทุนเต่างชาติในระยะนี้