หน้าแรกกระบวนการยุติธรรมตร.ไซเบอร์ เตือนมิจฉาชีพขโมยข้อมูลส่วนบุคคลผู้อื่นไปใช้โทษหนักจำคุกสูงสุด 5 ปี

ตร.ไซเบอร์ เตือนมิจฉาชีพขโมยข้อมูลส่วนบุคคลผู้อื่นไปใช้โทษหนักจำคุกสูงสุด 5 ปี

ตำรวจไซเบอร์ เตือนมิจฉาชีพขโมยข้อมูลส่วนบุคคลผู้อื่นไปใช้โทษหนักจำคุกสูงสุด 5 ปี พร้อมแนะ 8 วิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีมีผู้ใช้ Facebook รายหนึ่ง ได้นำหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ของตนไปตรวจสอบในระบบ หรือแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ พบว่าหมายเลขบัตรประชาชนของตนได้ถูกนำไปเปิดใช้บริการกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือกว่า 30 หมายเลข โดยที่ตนไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการแต่อย่างใดนั้น ว่า
ในปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึง ตรวจสอบข้อมูล ขอเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือหรือผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตได้โดยสะดวก รวมไปถึงการเปิดใช้งานลงทะเบียนซิมโทรศัพท์มือถือผ่านแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสนำข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่ได้มาด้วยวิธีการต่างๆ มาแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย

การกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ นำบัตร หรือใบรับหรือใบแทนใบรับของผู้อื่นไปใช้แสดงว่าตนเป็นเจ้าของบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 15 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท, เอาไปเสียซึ่งเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม ป.อาญา มาตรา 188 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และปลอมและใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อาญา มาตรา 264, 268 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ” และฐานความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวต้องไปตรวจสอบกับผู้ให้บริการว่า ในการเปิดใช้งานหมายเลขโทรศัพท์มือถือต้องใช้เอกสารใดบ้าง ผู้ใดเป็นผู้ขอเปิดใช้บริการ มีการขอเปิดใช้ในลักษณะใด แบบรายเดือน หรือแบบเติมเงิน และผู้ใดเป็นผู้ชำระค่าบริการ ฝากไปยังเตือนประชาชนในการใช้งาน หรือเข้าถึงเว็บไซต์ หรือบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งมิจฉาชีพอาจฉวยโอกาสหลอกเอาข้อมูลเหล่านี้ไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้ และหากประชาชนท่านใดตรวจสอบพบในลักษณะดังกล่าว ให้รีบติดต่อกับผู้ให้บริการเพื่อทำการปิด หรือยกเลิกหมายเลขที่ไม่ได้ใช้งานทันที

ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันมิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ ดังนี้
​1.ไม่ควรให้บัตรประชาชน หรือข้อมูลส่วนบุคคลกับผู้ใด และหลีกเลี่ยงการเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์
2.รับรองสำเนาบัตรประชาชนให้ถูกต้อง โดยต้องขีดคร่อมกำกับว่าใช้เพื่อธุรกรรม หรือวัตถุประสงค์ใด รวมถึงระบุวันเดือนปีที่รับรองสำเนาดังกล่าว
​3.อย่าถ่ายภาพ หรือให้ข้อมูลหลังบัตรประชาชนให้ผู้ใดอย่างเด็ดขาด
4.ระวังการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล ในการเข้าใช้งานเว็บไซต์ใดๆ ขอให้พิมพ์ หรือกรอกชื่อเว็บไซต์ด้วยตนเอง
5.ไม่คลิกลิงก์ที่แนบมากับอีเมล หรือข้อความสั้น (SMS) ไม่ทราบเเหล่งที่มาและไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะที่เป็นการสำรวจข้อมูล กรอกแบบสอบถามต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูลของมิจฉาชีพ
6.ควรกรอกข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากไม่แน่ใจให้ติดต่อสอบถามกลับไปยังหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง
7.หลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi สาธารณะ เพื่อป้องกันการดักจับข้อมูลส่วนบุคคล
8.ตรวจสอบการอัปเดตบนระบบปฏิบัติการ และตั้งค่าเบราว์เซอร์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ สื่อออนไลน์ ที่ยึดถือจรรยาบรรณครบถ้วน

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img