ศูนย์เรียนรู้บ้านท่าไม้ยาวผนึกสหกรณ์ฯด่านมะขามเตี้ย แปรรูปสินค้าจากภูมิปัญญา ชูผลิตภัณฑ์เด่น “น้ำจากไผ่”
“ไผ่”ได้ชื่อว่าพืชมหัศจรรย์ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนไม่เว้นแม้กระทั่งน้ำจากลำต้น ที่ผลิตออกเป็นน้ำดื่มบริสุทธิ์จาภูมิปัญญามากด้วยสรรพคุณ โดยศูนย์เรียนรู้บ้านท่าไม้ยาว ม.6 ต.ด่านมะขามเตี้ย อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี มีนายธเนศ เมฆนาคา หรือครูธเนศ ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนบ้านท่าแย้ เป็นประธานศูนย์ฯและเจ้าของผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา
โดยครูธเนศเป็นผู้ริเริ่มผลิตน้ำดื่มบริสุทธ์จากต้นไผ่ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษผ่านกรรมวิธีง่าย ๆ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของศูนย์ฯในเวลานี้
“การจะได้น้ำไผ่ต้องมาเอาตอนกลางคืนเท่านั้นเพราะธรรมชาติของต้นไผ่กลางคืนเขาจะคายน้ำส่วนเกินออกมา ไผ่ทุกกอทุกต้นมีน้ำ และการให้น้ำแบบนี้เป็นการระบายน้ำส่วนที่เกินของไผ่ ซึ่งจะเก็บน้ำไว้เท่าที่จำเป็นถึงเราไม่เจาะรู ไผ่ก็จะคายน้ำออกทางราก”
ครูธเนศ เปิดเผยที่มาน้ำดื่มจากไผ่ และอธิบายขั้นตอนการทำเริ่มจาก การเลือกลำต้นไผ่ ต้องไม่อ่อนไม่เกินไป คือมีอายุ 3 ปีขึ้นไปสีของต้นจะต้องไม่เขียวสดและไม่มีเปลือกไผ่ห่อหุ้ม ใช้สว่านมาเจาะเข้าไปในเนื้อไผ่แต่อย่าให้ทะลุกลางปล้องก่อนนำสายยางเสียบเข้าไปแล้วนำปลายสายยางใส่ในถุงรองน้ำ โดยทำแบบนี้กับไผ่หลายๆลำในกอ แล้วนำปลายสายยางมารวมในถุงเดียวกัน ใช้เวลา 3-5 ชั่วโมงจะได้น้ำไผ่ประมาณ 10 ลิตร (ช่วงแล้งจะได้น้ำน้อย) นำน้ำที่ได้มากรองเพื่อกำจัดเศษเนื้อไผ่ที่ติดมาก่อนบรรจุขวดขาย น้ำไผ่บริสุทธ์ จะเก็บไว้ได้ไม่เกิน 6-10 ชั่วโมง เพราะธรรมชาติของน้ำไผ่ถ้าเจออุณหภูมิสูงจะเสียง่าย แต่ถ้าแช่เย็นจะรักษาคุณภาพอยู่ได้เป็นอาทิตย์ ส่วนน้ำที่ผ่านกระบบวนการพาสเจรอ์ไรท์เก็บได้ไม่เกิน 1 เดือน
ครูธเนศ เผยอีกว่า น้ำจากไผ่เป็นน้ำบริสุทธ์ไม่มีสารตกค้างแม้กระทั่งกรดยูริก มีทีมวิจัยบริษัทเอกชนมาสุ่มตรวจพบมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ มีสรรพคุณช่วยระบาย ขับถ่ายคล่อง ช่วยผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน ที่สำคัญต้นทุนน้อยเพราะได้มาจากธรรมชาติล้วน ๆราคาขายขวดละ 20 บาท ถ้าเป็นแบบพาสเจอร์ไรท์ขวดละ 50 บาท โดยน้ำจากไผ่มีจำหน่ายที่ศูนย์เรียนรู้ฯแห่งเดียวเท่านั้น
ขณะที่ น.ส.กาญจนา ป้อมสกุล หรือครูฝน วิทยาการประจำศูนย์ฯ กล่าวว่า ที่ศูนย์แห่งนี้มีเนื้อประมาณ 40 ไร่เศษ มีกิจกรรมการแปรูปผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาลและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรต่าง ๆ โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่จากสมาชิกของศูนย์อย่างเช่นฤดูมะม่วงก็จะแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่นมะม่วงกวน มะม่วงแช่อิ่ม หรือแยมมะม่วงหาวมะนาวโห่ ผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว และผลิตภัณฑ์ชาจากหญ้าหวาน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้นจะได้รับการสนับสนุนจากสหกรณ์การเกษตรด่านมะขามเตี้ยในการถ่ายทอดองค์คามรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และพาสมาชิกไปอบรม ศึกษาดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งยังเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าของศูนย์ฯอีกด้วย
“สมาชิกของศูนย์ฯเราก็เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรด่านมะขามเตี้ยด้วยเวลาที่สหกรณ์จัดอบรมต่าง ๆ ก็จะเชื่อมโยงมาที่ศูนย์ฯ ที่สำคัญสหกรณ์ยังเป็นช่องทางการตลาดจำหน่ายสินค้าให้กับศูนย์ฯด้วย ทุกวันนี้เราเป็นเครือข่ายกัน เวลาอยากเรียนรู้อะไรก็ไปคุยกับสหกรณ์ บางครั้งมีคณะดูงานที่สหกรณ์ฯก็จะเชื่อมโยงมาที่ศูนย์ เป็นการแบ่งปันซึ่งกันและกัน อนาคตจะพัฒนาศูนย์ฯให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทำเส้นทางเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยว หากสนใจเยี่ยมชมศูนย์ติดต่อ ครูฝน 098-2566673” น.ส.กาญจนา กล่าว
ลักษณะศักดิ์ โรหิตาจล
ข่าว/ภาพ