หน้าแรกการเมืองttb analytics ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2568 อาจโตได้จำกัดเพียง 37.8 ล้านคน

ttb analytics ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2568 อาจโตได้จำกัดเพียง 37.8 ล้านคน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ชี้สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยเห็นสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 แต่เมื่อมองในมุมที่กว้างขึ้น พบว่า ไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มประเทศที่ได้รับความนิยมในการท่องเที่ยวอื่นๆ สัญญาณดังกล่าวอาจสะท้อนถึงไทยเริ่มเสื่อมมนต์ขลังในการดึงดูด มองข้อจำกัดเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้ยังเป็นทางเลือกลำดับแรกๆ และคุ้มค่าที่จะเที่ยวซ้ำ หรือเป็นตัวเลือกในการพำนักระยะยาว เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยสร้างเม็ดเงินให้กับไทยสูงสุดกว่า 1.9 ล้านล้านบาท บนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 39.92 ล้านคน โดยนอกจากในมิติของเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เข้ามาหมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยแล้ว การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังนำมาซึ่งเงินตราต่างประเทศที่เสริมสร้างให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีความเข็มแข็งมากขึ้น อีกทั้งในมิติของธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจบริการ เม็ดเงินที่ผู้ประกอบไทยได้รับในรูปแบบของกำไรก็มีส่วนต่างมากกว่ากลุ่มภาคการผลิต อย่างไรก็ตามจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักและกลับมาฟื้นตัวหลังวิกฤตคลี่คลาย โดยในปี 2566 เริ่มเห็นสัญญาณนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวที่ 71% และในปี 2567 นักท่องเที่ยวต่างชาติยังรักษาการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องที่ 89% หรือราว 35.5 ล้านคน แต่อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาถึงประเทศที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก พบว่า ไทยค่อนข้างฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ

ตามที่กล่าวไปข้างต้น แม้สถานการณ์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยดูเหมือนจะฟื้นตัวแต่อาจแฝงไปด้วยความน่ากังวลที่นอกจากในทางเปรียบเทียบแล้วการฟื้นตัวของไทยไม่เพียงช้าแต่อาจยังดูมีทิศทางล้าหลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยที่ยังไม่กลับมา ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นที่กลับมาฟื้นตัวทะลุระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม หรือสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยที่มีความเปราะบางจากการที่มีการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 28% อาจเริ่มเสื่อมความนิยมจากสถิติที่ชี้ว่าในปี 2567 นักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวเพียง 60% ซึ่งทาง ttb analyticsมองว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยอาจไม่ได้สดใสอย่างที่มองกันแบบผิวเผิน แต่อาจมีความท้าท้ายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในระยะยาว จากเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

(1) นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา หรือจะไม่กลับมา จากความดึงดูดในเรื่องของอัตราการท่องเที่ยวซ้ำ เนื่องจากตลาดท่องเที่ยวไทยเป็นตลาดที่เข้าถึงง่ายจากค่าใช้จ่ายต่อทริปที่ไม่สูง ส่งผลให้ตลาดไทยอยู่ในฐานะจุดหมายแรกของการเริ่มเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ (Entry Level) ที่อาจได้ประโยชน์ในระยะแรกแต่อาจเริ่มถูกตั้งคำถามถึงอัตราการท่องเที่ยวซ้ำ (Revisit Intention) ส่งผลให้กลุ่มที่เคยมาเที่ยวเมืองไทยแล้วมีการตัดสินใจถึงความน่าสนใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวซ้ำอาจไม่สูงมากนักจากข้อจำกัดเรื่องการท่องเที่ยวในไทยยังมีปัญหาซุกใต้พรมอยู่มาก เช่น ประสบการณ์ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาเรื่องการเดินทางจากคุณภาพการขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะนอกเขตเมืองหลักของการท่องเที่ยว รวมถึงประเด็นเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ย่อมเปลี่ยนตามรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งชาวจีนที่เคยมาเที่ยวไทย เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ การท่องเที่ยวต่างประเทศในประเทศอื่น ๆก็ย่อมที่จะมีทางเลือกมากขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีข้อจำกัดด้านเวลาหรือโอกาส เช่น คนทำงานประจำอาจมีโอกาสในการจัดการวันลาเพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศได้หนึ่งครั้งต่อปี การตัดสินใจเลือกท่องเที่ยวในประเทศอื่นย่อมเป็นการตัดโอกาสการเดินทางมาท่องเที่ยวไทยในปีเดียวกันอย่างเลี่ยงไม่ได้


(2) การท่องเที่ยวของไทยยังมีตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริปที่ไม่สูง แม้ในปี 2562 จะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 39.92 ล้านคนก็ตาม เป็นนักท่องเที่ยวจากอาเซียนถึง 10.9 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 27.2% ของนักท่องเที่ยวรวม แต่หากพิจารณาลึกลงไปพบว่ามีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศที่มีชายแดนติดกันรวมแล้วกว่า 7.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 68% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มอาเซียนทั้งหมด รวมถึงในปี 2567 นักท่องเที่ยวจากกลุ่มอาเซียนก็ยังมีสัดส่วนมากถึง 30% ของนักท่องเที่ยวรวม ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คาดว่ามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ไม่สูงนักจากค่าครองชีพในต้นทางที่ไม่สูงกว่าไทยที่ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ไม่มากพอ รวมถึงค่าเสียโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวต่ำกว่าส่งผลต่อระยะพักแรมที่สั้นกว่าเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่น ดังนั้น การตั้งเป้าในเรื่องเชิงปริมาณของจำนวนนักท่องเที่ยวอาจเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าด้านปริมาณ โดยสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้การท่องเที่ยวไทยยั่งยืนคือควรเน้นเรื่องคุณภาพนักท่องเที่ยวมากกว่าเชิงปริมาณ


(3) โครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยยังกระจุกตัวอยู่ในแค่ในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่เกือบ 90% เป็นประเด็นที่กระทบต่อศักยภาพการเข้าประเทศไทยที่ถูกจำกัดจากการที่นักท่องเที่ยวยังเดินทางผ่านกรุงเทพฯ เป็นหลักเสมอ ซึ่งสะท้อนได้จากรายงานของ Euromonitor ที่ชี้ว่า กรุงเทพฯ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 32.4 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวทั้งปีที่ 35.5 ล้านคน มองผิวเผินอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเปรียบเทียบกับเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเป็นลำดับที่ 2 คือ เมืองอิสตันบูล ที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 23 ล้านคน แต่นักท่องเที่ยวของประเทศตุรกีกลับสูงถึง 69.3 ล้านคน สะท้อนถึงการเดินทางเข้าตุรกีอาจไม่จำเป็นต้องเข้าเมืองอิสตันบูลโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรป ซึ่งสะท้อนข้อจำกัดการเที่ยวในเมืองอื่น ๆ ของไทยยังมีศักยภาพที่ต่ำกว่ากรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดให้เกิดการท่องเที่ยวและมีการใช้จ่ายท่องเที่ยวได้มากขึ้น หากมีระบบการเดินทางที่ครอบคลุมเชื่อมโยงมากขึ้น
จากสาเหตุเหล่านี้ ttb analytics จึงมองในปี 2568 ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยยังคงได้รับอานิสงค์บ้างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ เช่น นักท่องเที่ยวจากอินเดียจากการที่รายได้ต่อหัวของอินเดียปรับเพิ่มขึ้น (GDP Per Capita) ถึง 73.1% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้คนอินเดียสามารถเข้าถึงการท่องเที่ยวต่างประเทศได้มากกว่าในอดีต และจากการที่ไทยอาจมีฐานะเป็นจุดหมายแรกของการเริ่มเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ (Entry Level) ก็อาจได้ประโยชน์ แต่การเพิ่มนักท่องเที่ยวของอินเดียดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่สามารถชดเชยนักท่องเที่ยวจีนที่ ”ยังไม่กลับหรืออาจไม่กลับ” โดยคาดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 37.8 ล้านคน และอาจเริ่มเติบโตชะลอลงในปี 2569 จากนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่ยังไม่สามารถชดเชยนักท่องเที่ยวจากจีนที่ขาดหายไปได้ ดังนั้น ในมุมมองของ ttb analyticsจึงเสนอแนะว่าไทยควรเตรียมรับมือจากข้อจำกัดข้างต้นที่กล่าวไว้ ดังต่อไปนี้

(1) การพำนักระยะยาว (Long Stay) เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากปกตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่ท่องเที่ยวรายครั้งจะมีระยะเวลาพักผ่อนในไทยราว 6-8 วัน สำหรับนักท่องเที่ยวเอเชีย และ 14-17 วันสำหรับนักท่องเที่ยวจากยุโรป สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย ในขณะที่ถ้าไทยสามารถดึงดูดให้เกิดการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วที่มีความประสงค์หาประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำเพื่ออาศัยในช่วงเกษียณอายุที่คาดว่าจะมีการใช้จ่ายมากกว่าการท่องเที่ยวรายครั้ง 10-12 เท่า นอกจากนี้ การได้รับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวย่อมเป็นฐานในการสร้างรายได้ในปีถัด ๆ ไป เนื่องจากนักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ลงหลักปักฐาน ซึ่งต่างจากนักท่องเที่ยวรายครั้งที่ต้องหวังให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นยังมีความประสงค์กลับมาเที่ยวไทยซ้ำต่อเนื่อง ดังนั้นการเพิ่มบทบาทของนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวอาจเป็นจุดเริ่มต้นของแผนการที่เน้นให้ภาคการท่องเที่ยวไทยใส่ใจคุณภาพได้มากกว่าการเน้นในด้านปริมาณ พร้อมกับการที่ภาครัฐควรจริงจังมากขึ้นในการดำเนินนโยบายด้านการให้ความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวที่ในปัจจุบันอาจมีความสะดวกในเรื่องของวีซ่า แต่ความพร้อมและความสะดวกในการดำรงชีพยังถือว่าไม่มีความพร้อม เช่น การครอบครองที่อยู่อาศัย สิทธิในการรักษาพยาบาลแบบรับผิดชอบรวม เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาพำนักระยะยาวในไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าในปัจจุบันอย่างมีระบบแบบแผน

(2) การอาศัย Location เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวจากประเทศที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มประเทศในทวีปเอเชียที่ใช้เวลาท่องเที่ยวไม่นานนัก เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้เดินทางมาไทยด้วยเที่ยวบินระยะสั้น (Short Haul) ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่ำและใช้เวลาในการเดินทางไม่มาก รวมถึง ในพื้นที่ดังกล่าวพบว่ายังมีประเทศที่มีศักยภาพในเชิงของกำลังซื้อที่สูงกว่าไทย เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน รวมถึงกลุ่มประเทศใหญ่ที่ยังมีศักยภาพในการขยายตัวด้านปริมาณอย่างมหาศาลจากฐานประชากรที่ใหญ่อย่างอินเดีย เป็นต้น
โดยสรุป แม้สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัว แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวของหลาย ๆ ประเทศที่มีสัญญาณกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 สัญญาณดังกล่าวอาจสะท้อนถึงไทยที่เริ่มเสื่อมมนต์ขลังในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อให้บรรลุความคาดหวังที่วางไว้ให้กลับไปเท่ากับช่วงปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ 39.92 ล้านคน ซึ่งอาจเป็นจุดสูงสุดที่ไทยทำได้ ดังนั้น ด้วยศักยภาพของการท่องเที่ยวไทยที่อยู่บนทรัพยากรที่จำกัด ภาครัฐและผู้ประกอบการควรเร่งปรับลดข้อจำกัด ลดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง ยกระดับคุณภาพ ลดการเน้นปริมาณ เพื่อยกระดับการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้เป็นทางเลือกลำดับแรกๆ และคุ้มค่าที่จะกลับมาเที่ยวซ้ำ เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img