ในทุกวันนี้เรื่องที่อยู่ใน “กระแส” ของธุรกิจที่ใคร ๆ ก็พูดถึง หนีไม่พ้นเรื่อง “ESG” แต่แท้จริงแล้ว เรื่องราวของ ESG ไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่เป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องทำ โดย ESG นั้นกล่าวง่าย ๆ ก็คือ แนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 มิติ คือมิติของแนวทางการพัฒนาด้าน สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ หลักธรรมมาภิบาล (Governance) ซึ่งเป็นแนวคิดระดับโลกที่ธุรกิจทุกขนาดจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้โลกของเราอยู่ได้อย่างยั่งยืน และธุรกิจสามารถดำเนินต่อได้ในอนาคต finbiz by ttb วิเคราะห์ว่า แรงหนุนที่ทำให้ธุรกิจต้องรีบพัฒนาองค์กรตามแนวคิด ESG ไม่ใช่เพียงเพราะว่า ธุรกิจเป็นส่วนหลักในการสนับสนุนโลกให้ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังมีแรงหนุนอื่น ๆ ทำให้ธุรกิจตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึง SME ต้องสนใจ จำเป็นต้องเข้าถึง และใช้แนวคิด ESG ในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่
1) ความกังวลด้านวิกฤตการเปลี่ยนแปลง และ Climate Crisis & Environmental Concerns การคาดหวังว่าธุรกิจจะมีส่วนช่วยลดอุณหภูมิโลกให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้ โดยเป็นการคาดหวังของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญ
2) กฎระเบียบต่างๆ (Regulatory Driven) เช่น พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาษีคาร์บอน คาร์บอนเครดิต ถ้าธุรกิจมีการปล่อยคาร์บอนสูง ในอนาคตสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การจ่ายชดเชยในสิ่งแวดล้อมที่เสียหายไปจากการทำธุรกิจ ในรูปของภาษีคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น
3) ความห่วงใยด้านสังคม (Social Concerns) ปัจจุบันมีการพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อทุกคนโดยเท่าเทียมมากขึ้น โดยเฉพาะคน Gen Z แรงงานกลุ่มใหญ่ที่เริ่มเข้ามาสู่องค์กรให้ความสำคัญในด้านนี้ โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานระดับ Talent ยิ่งให้ความสนใจเป็นพิเศษ
4) ชื่อเสียงของบริษัท (Company’s Reputation) องค์กรที่มีแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืนที่ชัดเจน ย่อมสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจให้เกิดกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หุ้นส่วน และพันธมิตรต่าง ๆ
ความยั่งยืนคือ “โอกาส” ทำแล้วดีอย่างไร?
1) ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ความยั่งยืนเป็นตัวช่วยประหยัดต้นทุนมหาศาล เช่น ลดค่าไฟ ค่าน้ำ และกำจัดของเสียให้เป็นศูนย์ ทำให้กระบวนทางธุรกิจ LEAN มากขึ้น ตอบโจทย์ทางด้านการเงิน และองค์กรสามารถทำกำไรในการแข่งขันได้มากขึ้น
2) เพิ่มอำนาจการแข่งขัน เพิ่มความมั่นคง การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อตอบโจทย์เทรนด์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป จะช่วยลดความเสี่ยงและทำให้องค์กรมีขีดความสามารถทางการแข่งขันในอนาคตที่เพิ่มมากขึ้น
3) ดึงดูดทรัพยากรมนุษย์ในระดับพรสวรรค์ ความยั่งยืนเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนที่มีความรู้ความสามารถให้อยากจะร่วมงานกับองค์กร ถ้าดูแลพนักงานอย่างดี พนักงานย่อมอยากจะอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ ต้นทุนในการสรรหาบุคลากร การวางแผนกำลังคนเพื่อทดแทนบุคลากรในตำแหน่งต่าง ๆ ก็จะลดลงตามไปด้วย
4) ดึงดูดนักลงทุน แนวคิด ESG เป็นแต้มต่อในการหาเม็ดเงิน หรือระดม
ทุนของบริษัทในอนาคต เนื่องจากนักลงทุนและสถาบันการเงินยุคนี้จะพิจารณาเรื่องความยั่งยืน ก่อนจะตัดสินใจเข้าไปลงทุน หรือปล่อยกู้ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง
5) โอกาสในการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ หลายบริษัทผนวก ESG เข้ากับธุรกิจ จนสามารถออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรม หรือเกิดธุรกิจใหม่ได้สำเร็จ
6) เสริมภาพลักษณ์องค์กร ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันที่ผู้คนหันมาสนใจความยั่งยืนด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการจะเห็นได้ว่า ESG ไม่ใช่กระแส หากไม่รีบเริ่มตั้งแต่วันนี้จะทำให้เสียโอกาส และอำนาจในการแข่งขันทั้งหมดไป ธุรกิจที่เริ่มก่อนย่อมได้เปรียบ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันจะต้องเริ่มได้แล้ว ในมิติใดมิติหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สังคม หรือ ธรรมาภิบาล โดยผู้นำองค์กรที่เห็นความสำคัญจะสามารถผลักดันองค์กรและผนวกแนวคิด ESG ได้โดยไม่ใช่เรื่องยาก