รองเลขาธิการ ศอ.บต. นำทีมรุดสำรวจปัญหาความเดือดร้อน ชาวบ้านเกาะบุโหลน จ.สตูล หลังเกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำ และไฟฟ้า เป็นเวลานาน พร้อมจับมือกับทุกกระทรวง เดินหน้าแก้ปัญหาให้ตรงจุด
วันนี้ (5 พฤษภาคม 2566) ผู้บริหารของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำโดย นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ลงพื้นที่เกาะบุโหลน หมู่ที่ 3 บ้านเกาะบุโหลน ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อเยี่ยมเยียนและพบปะพี่น้องประชาชน พร้อมนำน้ำดื่มจำนวน 200 แพ็ค มามอบให้กับประชาชนบนเกาะบูโหลน ที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มและน้ำใช้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาอันเนื่องจากสระเก็บน้ำเกาะบุโหลน ขาดแคลนน้ำต้นทุนจากน้ำธรรมชาติ ประกอบกับถังเก็บน้ำ (เดิม) มีตะกอนดินสะสมเป็นเวลานาน พร้อมได้สำรวจข้อมูลครัวเรือนของประชาชนที่ประสบกับปัญหาการใช้ชีวิตบนเกาะบุโหลน โดยมีเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่จากโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน ผู้นำชุมชน บัณฑิตอาสาฯ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจในครั้งนี้ด้วย ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อำนวยความสะดวกแก่คณะของ ศอ.บต. ในการเดินทางมายังเกาะบูโหลนแห่งนี้
ก่อนจะเริ่มสำรวจข้อมูลครัวเรือน รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้ประชุมทีมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจถึงคำถามในแบบสอบถาม
โดยมีหัวข้อหลักดังนี้ 1.ลักษณะที่อยู่อาศัย 2.สภาพบ้านมีความมั่นคงอย่างไร
และ 3.หัวหน้าครัวเรือน โดยทุกหัวข้อ เป็นประเด็นสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของประชาชนบนเกาะแห่งนี้ โดยเฉพาะเรื่องของที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิต และเรื่องของการบริโภคน้ำดื่มสะอาดที่ไม่มีการเปื้อนของน้ำเค็มเข้าไป เพื่อให้เด็กเล็กรวมถึงผู้สูงอายุ สามารถดื่มแล้วมีสุขภาพที่แข็งแรงและปลอดภัย
ในการนี้ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ลงพื้นที่หมู่เกาะบุโหลนแห่งนี้มาหลายครั้ง ได้พบปัญหาจากชาวบ้านมาหลายเรื่อง โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและไฟฟ้าใช้บนเกาะ ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานรัฐบาลที่อยู่ในพื้นที่ เร่งหาทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด โดยจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยด่วนที่สุด เพราะปัญหาเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่สะสมมานานไม่ได้รับการแก้ไขปัญหามาหลายปีต่อเนื่อง ทั้งยังส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ยังคงมีปัญหาสืบเนื่องในพื้นที่อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ การจัดการศึกษาของโรงเรียนที่มีนักเรียนกว่า 100 คน แต่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน โอกาสทางการศึกษา การประกอบอาชีพ การเพิ่มน้ำต้นทุนที่จำเป็นจะต้องพัฒนาในระยะต่อไปเพื่อให้ราษฎรสามารถประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะการเกษตรที่ไม่สามารถทำได้เลย
ด้านประชาชน ต่างกล่าวด้วยเสียงเดียวกันว่า ปัญหาหลักๆของคนบนเกาะแห่งนี้ก็คือการขาดน้ำเพื่อใช้เป็นอุปโภคบริโภค เพราะน้ำบนเกาะแห่งนี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ส่วนใหญ่น้ำบนเกาะแห่งนี้มาจากน้ำฝน ที่ตกลงมาสู่สระน้ำของประชาชนขุดไว้ที่อยู่บนเขา ก่อนจะนำน้ำดังกล่าวปล่อยแจกจ่ายให้กับประชาชน ถึงยังไงก็ตามก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้ง ฝนไม่ค่อยตก ทำให้ประชาชนทุกคนต้องประหยัดน้ำ ปัจจุบันนี้ ต้องนำน้ำทะเลมาอาบน้ำแทนน้ำจืด ในขณะที่น้ำดื่มต้องใช้การจัดซื้อจากในเมืองละงูและการบริจาคทั่วไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนไปเป็นการเบื้องต้นก่อน และเรื่องไฟฟ้า ที่มีกำจัดในการใช้ ในเวลา 18.00 – 22.00 น. จากนั้นทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการดับไฟ ทำให้ทุกคนมีความลำบากต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก
รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้ประสานกรมชลประทานเพื่อให้พิจารณาใช้งบเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป หากไม่สามารถจัดสรรงบประมาณได้ ก็จะได้พิจารณาประสานการใช้งบประมาณจากแผนบูรณาการ การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้ โดยในระยะเริ่มต้น ศอ.บต. จะได้ประสานจังหวัดพิจารณาให้มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อให้องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ ช่วยเหลือด้วยการจัดหาน้ำดื่มน้ำใช้ให้กับราษฎรเป็นการเร่งด่วนที่สุด โดยเฉพาะน้ำดื่มที่หลายครัวเรือนกำลังประสบภาวะวิกฤติต้องการให้รัฐยื่นมือช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนที่สุด หรือ ดำเนินการด้วยวิธีการอื่นใดในการจัดหาน้ำดื่มและน้ำใช้ให้เพียงพอในภาวะวิกฤติเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. ยังคงยืนหยัดหาทางแก้ไขปัญหาบนเกาะบุโหลน โดยจะร่วมกับจังหวัดสตูล เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่แบบครบวงจรในระยะ 2 – 3 เดือนต่อจากนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรอูลักลาโว้ยและจำมีการติดตามการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป
โดยหลังจากนี้ เมื่อทาง ศอ.บต. ได้รับข้อมูลจากการสำรวจสอบถามความต้องการของประชาชนบนเกาะแห่งนี้แล้ว ทาง ศอ.บต. จะเร่งดำเนินการประชุมกับทีมผู้บริหาร โดยจะมีผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กระทรวง/กรม จะเป็นผู้ดำเนินการรับข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จากนั้น ศอ.บต. จะลงมายังเกาะให้นี้อีกครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนมีความต้องการของแต่ละครัวเรือน เพื่อให้ทางรัฐบาลสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุด เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่บนเกาะแห่งนี้ ได้อย่างมีความสุข