หน้าแรกการเมือง'ธีระชัย' แขวะ! รัฐบาล คสช. นโยบายพลังงานเจ๊งไม่เป็นท่า

‘ธีระชัย’ แขวะ! รัฐบาล คสช. นโยบายพลังงานเจ๊งไม่เป็นท่า

นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในเวทีตรวจสอบจัดโดย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และ เครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน ในหัวข้อเรื่อง “แก้ปัญหาพลังงานอย่างไร ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน” ว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ได้ดำเนินนโยบายด้านพลังงานที่ผิดพลาด สร้างความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน และยังทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติเสียหาย นโยบายผิดด้านน้ำมัน คือสิ่งที่ควรทำ กลับไม่ทำ ไม่แก้ไขกติกาที่เปิดให้โรงกลั่นสามารถเอากำไรจากการขายคนไทยราคาแพง ไปจุนเจือการส่งออก

ถึงแม้สูตรราคาคนไทย ที่บวกค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายนำเข้าเทียมจากสิงคโปร์ (ทั้งที่ไม่มีการจ่ายจริง) จะกำหนดโดยรัฐบาลในอดีตก็ตาม แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีหน้าที่ต้องแก้ไข กลับไม่ดำเนินการ ผลที่เกิดขึ้นมีดังนี้

1) ในช่วง 4 ปี มีการส่งออกน้ำมันวันละ 2 แสนบาร์เรล เทียบเท่าวันละ 32 ล้านลิตร มูลค่าปีละ 2 แสนล้านบาท รวม 4 ปีมูลค่า 8 แสนล้านบาท

2) การกระตุ้นส่งออก ดีต่อตัวเลข จีดีพี กำไรโรงกลั่น และตลาดหุ้น แต่เป็นภาพเศรษฐกิจเทียม เพราะกำลังซื้อคนไทยลดลง จากที่ต้องซื้อน้ำมันแพงกว่าที่ควร กลับเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำ

3) ทั้งพลเอกประยุทธ์ และดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ เคยเป็นกรรมการโรงกลั่น จึงน่าจะรู้ปัญหานี้ดี แต่ไม่แก้ไข

4) เมื่อราคาตลาดโลกดีดตัวสูงขึ้น แทนที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ กลับแก้ที่ปลายเหตุ โดยใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุน

นายธีรชัย กล่าวต่อไปว่า แต่นโยบายนี้ก็สร้างความเสียหายอีกด้านหนึ่ง เพราะกองทุนเป็นเงินของประชาชน จึงกลายเป็นเฉือนเนื้อคนจน ไปอุ้มคนรวย นโยบายผิดด้านก๊าซหุงต้ม (LPG) คือไปทำ ในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ หลายรัฐบาลในอดีต ตรึงราคาเริ่มต้นสำหรับครัวเรือนไว้ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน แทนที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะยึดตามแนวทางเดิม กลับเอาวิธีกำกับด้านน้ำมัน ที่ผิดพลาด ก้อปปี้เอาไปใช้กับก๊าซหุงต้ม โดยยกเลิกเพดาน 333 ดังกล่าว เปลี่ยนไปใช้ราคานำเข้าแทนและยังเปิดให้โรงแยกก๊าซเรียกเก็บต้นทุนจากกองทุนน้ำมันได้ตามที่ใช้จ่ายจริงอีกด้วย ผลที่เกิดขึ้นมีดังนี้

1) ประชาชนต้องซื้อก๊าซแพงขึ้น เช่น ในเดือนตุลาคม 2560 ราคาเริ่มต้นของครัวเรือน สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 100% ทำให้ประชาชนลำบากเดือดร้อน

2) การยกเลิกมาตรการควบคุมราคา ทั้งที่สภาวะธุรกิจยังไม่แข่งขันเต็มที่ ไม่ว่าธุรกิจโรงแยกก๊าซ หรือธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน จึงเปิดโอกาสให้ธุรกิจบวกกำไรได้เต็มที่ และเป็นนโยบายที่ผิดพลาด

3) เมื่อราคาตลาดโลกดีดตัวสูงขึ้น แทนที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ กลับแก้ที่ปลายเหตุ โดยใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุน ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับด้านน้ำมัน

นายธีรชัย กล่าวด้วยว่า ดังนั้น ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมจะดี แต่เศรษฐกิจส่วนตัวในระดับครัวเรือน กลับเสียหายจากนโยบายพลังงานของรัฐบาลนี้ ข้อเสนอให้แก้ไขปรับปรุง มีดังนี้

ข้อที่ 1. เรื่องน้ำมัน

1.1 ควรลดราคาขายคนไทย เหลือเพียงไม่เกินราคาที่โรงกลั่นในไทยขายส่งออก (export parity)

1.2 ควรบังคับให้ ปตท. ขายหุ้นในโรงกลั่น ให้เหลือเพียงโรงเดียว เพื่อกระตุ้นการแข่งขันเต็มที่

ข้อ 2. เรื่องก๊าซหุงต้ม

2.1 ควรยอมรับว่านโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์นั้น ผิดพลาด และเอาเพดาน 333 กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

2.2 ควรยกเลิกนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่ยอมให้โรงแยกก๊าซคิดค่าใช้จ่ายได้ตามที่เกิดขึ้นจริง แทนที่จะยึดหลักประหยัดและประสิทธิภาพตามเดิม

ข้อ 3. ควรยกเลิกการใช้กองทุนน้ำมันเพื่อตรึงราคาน้ำมันและก๊าซ ในปัญหาที่สาเหตุหลักเกิดจากโครงสร้างกำไรของธุรกิจที่บิดเบือน

ข้อ 4. ควรทบทวนบทบาทของ ปตท. โดยตั้งคณะกรรมการหลายกระทรวงขึ้น เพื่อทำการโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินออกไปให้กระทรวงการคลังทั้งหมด รวมไปถึงสิทธิทั้งหมดที่ได้จากอำนาจมหาชนของรัฐ


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img