วันที่ 21 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น.นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) มอบหมายให้นายธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธาน เปิดเวทีเสวนาการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มแรงงาน พร้อมทั้งเปิดตัวสื่อสร้างการรับรู้เพื่อการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มแรงงาน ชุด “ที่นี่…มีโอกาส” ประกอบด้วยสื่อคลิปในรูปแบบ Motographic จำนวน 2 เรื่อง สื่อเสียงและ Infographic จำนวน 5 ชุด เพื่อเป็นเครื่องมือเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน กระตุ้นให้เกิดความตระหนักและสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติด นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวกลุ่มเป้าหมายแรงงาน (พ่อแม่ ลูก นายจ้าง) พร้อมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมเสวนาการส่งเสริมความรู้เพื่อการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มแรงงาน ได้แก่ นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. นายแพทย์ ธนัช พจน์พิศุทธิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล นางเบ็ญจมาศ พุ่มช้าง ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์สวัสดิการแรงงาน กองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และดร.วีณา กรแก้ว ที่ปรึกษา บริษัท ทสึจิย่า (ประเทศไทย) จำกัด ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิต สำนักงาน ป.ป.ส.
นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตในกลุ่มแรงงาน นับเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันยาเสพติด ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้เล็งเห็นความสำคัญในประเด็นนี้ เนื่องจากกลุ่มแรงงานเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเชื่อมโยงกับมิติการป้องกันในกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ครอบครัว และหมู่บ้าน ชุมชน โดยบทบาทที่กลุ่มแรงงานเป็นพ่อแม่ที่มีครอบครัวต้องดูแล และอาศัยอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านชุมชน กลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ซึ่งกลุ่มแรงงานมีบุตรหลานต้องดูแล และกลุ่มเป้าหมายสถานประกอบการ ในบทบาทของลูกจ้างในสถานประกอบการ เป็นต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มแรงงานและนายจ้าง จำเป็นต้องมีฐานความรู้เพื่อการป้องกันยาเสพติดที่มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์และนโยบายในปัจจุบัน
นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเน้นย้ำว่า การเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาทักษะสมอง (Executive Functions : EF) ในกลุ่มแรงงาน จะช่วยสร้างความตระหนักต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบเกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติด รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการ ให้โอกาสผู้เสพผู้ใช้ยาเสพติดกลับเข้าทำงาน สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดโอกาสการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อันจะนำไปสู่สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติดอย่างยั่งยืน