ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดแผนปี 2566 ลงแข่งสนามถนัด ASEAN, Wealth Management, Treasury และสินเชื่อ ขับเคลื่อนโซลูชั่นด้วย DIGITAL มุ่งสร้างประสบการณ์ดีสุดให้ลูกค้า ‘MOVING FORWARD WITH YOU’

43


พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ความสามารถในการทำกำไร (PBT) ของธนาคารปี 2565 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อในปี 66 เติบโตในระดับ High single digit หรือโตเกือบ 10% โดยแนวโน้มความต้องการสินเชื่อยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จากภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่กลับมาฟื้นตัวขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลาย ทำให้การจับจ่ายใช้สอย และการลงทุนต่างๆกลับมาฟื้นขึ้น ธนาคารยังมองว่ากลุ่มสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่จะยังคงเห็นการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จากการกลับมาลงทุนโครงการต่างๆ รวมไปถึงสินเชื่อรายย่อยที่
ยังเห็นการเติบโตกลับมาที่ดี อย่างไรก็ตาม ธนาคารเล็งเห็นโอกาสการขยายฐานลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้บริการผ่านช่องมางดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานลูกค้าที่สำคัญในการมุ่งพัฒนาบริการทางการเงินของธนาคารที่มุ่งสู่บริการด้านดิจิทัล ส่วนสาขาของธนาคารที่มีอยู่กว่า 50 สาขา ในปัจจุบัน ไม่มีแผนการขยายสาขาเพิ่ม แต่สาขาที่มีอยู่บางส่วนจะปรับรูปแบบสาขาให้เป็นการให้บริการ Wealth management มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้นำสาขาของธนาคารที่มีมาปรับให้เป็นบริการกลุ่มลูกค้า Wealth management ราว 10 สาขา ซึ่งตอบโจทย์กับพฤติกรรมการใช้บริการของลูกค้าที่มาที่สาขาในปัจจุบัน

การบริหารจัดการการตั้งสำรอง และความพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งคุณภาพสินทรัพย์และการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้นช่วยลดต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อ (Credit Cost) และอัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ปรับตัวลดลง ด้านสินเชื่อและเงินฝากเติบโต 11.0% และ 21.0% ตามลำดับ (YoY) อย่างไรก็ตามธนาคารจะพยายามควบคุมคุณภาพหนี้ควบคู่ไปด้วย เพื่อควบคุมให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.3% ทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคารมีคุณภาพลูกหนี้ที่เหมาะสม

ธนาคารจะก้าวต่อไปในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นทางการเงินที่ดีที่สุดในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสนามที่ธนาคารถนัดอย่างการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ซึ่งการยกระดับและปรับปรุงช่องทางให้บริการการลงทุนที่หลากหลายช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ครอบคลุมครบวงจรและไม่ยุ่งยาก นอกจากนี้ ในปี 2565 ได้เพิ่ม Open Architecture บนแอป CIMB TH Digital Banking เพื่อคัดสรรกองทุนรวมดีๆ จากบลจ.ชั้นนำให้ลูกค้าเลือกลงทุนง่ายๆแค่ปลายนิ้ว ขณะเดียวกันบัญชีเงินฝากดิจิทัล CHILL D และ Speed D+ ที่เปิดบัญชีได้ผ่านแอปได้รับการตอบรับอย่างมาก โดยภาพรวมเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน (CASA) และเงินลงทุน (AUM) จากช่องทางดิจิทัลเติบโตมากกว่า 200%

ซีไอเอ็มบี ไทย ในฐานะผู้นำตลาดธุรกิจบริหารเงิน (Treasury) จากทีมงานที่มุ่งมั่นและพลังงานเหลือล้น โดยได้รับรางวัลมากมายตลอดทั้งปี จะเดินหน้ารักษาตำแหน่งผู้นำตลาดผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ชั้นนำ และสำรวจช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆทางดิจิทัล ควบคู่ไปกับกระแสของตลาดหลัก ๆ และให้ทันกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ ธนาคารจะยกระดับคุณค่าและบทบาทการเป็นธนาคารระดับภูมิภาคเพื่อดูแลลูกค้าองค์กร โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่าย แพลตฟอร์ม และโซลูชั่นของกลุ่มซีไอเอ็มบีในอาเซียน ปัจจุบัน ซีไอเอ็มบี ไทยเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทหลักของบริษัทแม่ ของการเป็นผู้สนับสนุนธุรกิจระดับภูมิภาคผ่านเครือข่ายแข็งแกร่งของกลุ่มซีไอเอ็มบี และธนาคารยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนการเติบโตและความต้องการเงินทุนของลูกค้าองค์กร ในฐานะผู้ออกหุ้นกู้เอกชน หุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ และหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน และติดอันดับ Top 5 ของการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ของประเทศไทย
ก้าวเข้าสู่ปี 2566 ด้วยยุทธศาสตร์ Forward23+ โดยธนาคารจะขับเคลื่อนการเติบโตสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘To be a digital-led bank with ASEAN reach : ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล’ ผ่าน 7 กลยุทธ์หลัก ปรับพอร์ตโฟลิโอ กระจายผลิตภัณฑ์เงินฝาก ขับเคลื่อนต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างคุณค่าผ่านดิจิทัล บริหารความเสี่ยงอย่างแข็งขัน สร้างเสริมพัฒนาทรัพยากรบุคคล และความยั่งยืน

ด้วยความทุ่มเทเพื่อให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ซีไอเอ็มบี ไทย ออกแบบโซลูชั่นให้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของตลาด เห็นได้จากแคมเปญล่าสุดของผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แข่งขันได้ และเป็นเครื่องมือที่ช่วยลูกค้าจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยยึด 4 แกนหลัก ได้แก่

  1. Sustainable Action การดำเนินการที่ยั่งยืน
  2. Sustainable Business ธุรกิจที่ยั่งยืน
  3. Governance and Risk การกำกับดูแลและความเสี่ยง และ
  4. Stakeholder Engagement and Advocacy การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการสนับสนุน
    นอกจากนี้ ด้านวัฒนธรรมองค์กร ธนาคารมีค่านิยมหลัก ‘EPICC’ ช่วยให้พนักงานก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสังคม