รองศาสตราจารย์ ใจ อึ๊งภากรณ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่บทความ “พรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถก้าวพ้นรูปแบบพรรคเดิมๆ” ผ่านเว็บไซต์ Turnleft-Thailand โดยมีเนื้อหาใจความว่า “มันเป็นเรื่องน่าผิดหวังที่พรรคอนาคตใหม่ดูเหมือนยังไม่สามารถก้าวพ้นรูปแบบพรรคเดิมๆ ของไทย เพราะพรรคกระแสหลักเดิมๆ มักจะมีนายทุนหรือทหารเป็นแกนนำ และมีนายทหารเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกด้วย ในการประชุมพรรคที่พึ่งจัดเมื่อไม่นานมานี้ นายทุนใหญ่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งไม่น่าแปลกใจ กรรมการพรรคส่วนหนึ่งเป็นนักวิชาการ มีนักธุรกิจสองคนนอกจากธนาธร และมีนักเอ็นจีโอ รวมถึงนักเอ็นจีโอแรงงาน แต่ไม่มีผู้แทนจริงๆ จากสมาชิกสหภาพแรงงานหรือจากเกษตรกรรายย่อยเข้ามาเป็นกรรมการเลย
แน่นอนหลายคนในกรรมการบริหารมีจุดยืนชัดเจนที่คัดค้านเผด็จการทหารชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องดี และถ้าฉีกรัฐธรรมนูญทหารทิ้งได้ก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน แต่คงทำได้ยากถ้าไม่สร้างมวลชนนอกรัฐสภา สิ่งหนึ่งที่น่าตกใจคือรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เป็นนายทหารเกษียณ พลโท พงศกร รอดชมภู เป็นอดีตรองเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ และในเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ เขาเคยเขียนบทความลงสื่อเกี่ยวกับปาตานี เขาเสนอว่าการแก้ไขปัญหาควรใช้การเมืองนำทหาร “แต่นั้นไม่ได้แปลว่าต้องยอมหรือขอเจรจา” คือต้องช่วงชิงประชาชนในพื้นที่ให้กลับมาอยู่กับฝ่ายรัฐไทย โดยการเลิกการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเปลี่ยนมาปราบฝ่ายตรงข้ามแบบนิ่มนวลมากกว่านี้ พลโท พงศกร ไม่มีการพูดถึงการให้สิทธิประชาชนในพื้นปาตานีที่จะกำหนดอนาคตว่าจะปกครองตนเองแบบไหนคือ แยกตัวออกจากประเทศไทย หรือมีเขตปกครองพิเศษ หรืออยู่แบบเดิม และไม่มีการพูดถึงต้นกำเนิดปัญหาซึ่งมาจากการที่รัฐไทยยึดพื้นที่ปาตานีมาเป็นอาณานิคม โดยไม่เคารพวัฒนธรรมของชาวมาเลย์มุสลิม นอกจากนี้ พลโท พงศกร ไม่มีการพูดถึงการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เข่นฆ่าประชาชน มีแต่การพูดถึงการลงโทษฝ่ายตรงข้าม
นโยบายแนวคิดแบบนี้ไม่ต่างจากแนวคิดฝ่าย “พิราบ” ของรัฐหรือทหารไทย มันเป็นการยืนยันจุดยืนอนุรักษ์นิยมว่ารัฐไทยแบ่งแยกไม่ได้ และมันห่างไกลเหลือเกินจากความคิดก้าวหน้าที่จะนำไปสู่เสรีภาพและสันติภาพสำหรับประชาชนในปาตานี นอกจากนี้มันแตกต่างจากคำพูดเดิมของ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยพูดว่าควรจะรื้อฟื้นข้อเสนอในการปกครองตนเองของชาวปาตานี
การมีนายทหารที่เป็นอดีตฝ่ายความมั่นคงเป็นรองประธานพรรค จะทำให้พรรคให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคง” เหนือสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยหรือไม่? เพราะการเน้นความมั่นคงเป็นนโยบายอนุรักษ์นิยมของรัฐบาลไทยทุกชุด โดยเฉพาะเผด็จการ ในแง่หนึ่งตัวบุคคลที่เป็นแกนนำพรรคอาจแค่ชวนให้เราเดาว่านโยบายพรรคจะเป็นอย่างไร เรื่องชี้ขาดจะอยู่ที่นโยบายที่ประกาศออกมาเป็นรูปธรรม ถ้าไม่มีการเสนอรัฐสวัสดิการแบบครบวงจร ถ้วนหน้า และมาจากการเก็บภาษีก้าวหน้าในระดับสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน ถ้าไม่เสนอให้ยกเลิก 112 ถ้าไม่เสนอให้สตรีมีสิทธิทำแท้งเสรี ถ้าไม่เสนอให้ชาวปาตานีสามารถกำหนดอนาคตตนเองโดยไม่ต้องพิจารณาความมั่นคงของชาติ และถ้าไม่เสนอให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามคำเรียกร้องของสหภาพแรงงาน และร่างกฏหมายแรงงานสัมพันธ์ใหม่เพื่อให้สหภาพแรงงานมีสิทธินัดหยุดงานและเคลื่อนไหวอย่างเสรี…. พรรคอนาคตใหม่ก็จะไม่ก้าวหน้าอย่างที่บางคนชอบอ้าง
มีเรื่องเดียวที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ในขณะนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าพรรคอื่นๆ ยังไม่พูดถึงอย่างชัดเจน นั้นคือการประกาศว่าต้องการลบผลพวงของเผด็จการ สรุปแล้วหน้าตาพรรคอนาคตใหม่ดูเหมือนเป็นพรรคคนชั้นกลาง สำหรับคนชั้นกลาง ไม่ใช่พรรคของคนชั้นล่างรากหญ้าแต่อย่างใด แต่ต้องยอมรับว่าคนของพรรคอนาคตใหม่ นอกจาก อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่พูดอะไรมากมายที่ไม่เป็นรูปธรรม ไม่เคยประกาศว่าจะสร้างพรรคของคนชั้นล่าง หรือพรรคของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นกรรมาชีพและเกษตรกร และดูเหมือนพรรคจะเน้นการส่งเสริมกลไกตลาดเสรีที่ขัดกับผลประโยชน์คนจนอีกด้วย
ดังนั้นภารกิจในการสร้างพรรคฝ่ายซ้ายของคนชั้นล่าง เพื่อคนชั้นล่าง กรรมาชีพและเกษตรกรนั้นเอง ยังไม่มีใครลงมือริเริ่มอย่างจริงจัง