นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้ร่วมก่อตั้งอนาคตใหม่ กล่าวถึงจังหวัดนครราชสีมา โดยระบุว่า “ผมมีโอกาสมาเยือนที่นครราชสีมา เมืองที่ถูกวางไว้เป็นยุทธศาสตร์หลายอย่างที่ไม่สำเร็จ อุตสาหกรรม ชุมทางพาณิชย์ เมืองหลวงการเกษตร ฯลฯ
หากใครเคยอ่าน ลับแล-แก่งคอย ถนนมิตรภาพคือถนนการเมือง เชื่อมทั้งการปราบปราม ความฝันความหวัง จินตนาการของผู้คน เพื่อชีวิตที่ดีในระบบทุนนิยม
ถนนเชื่อมอีสาน กับกรุงเทพขยายแล้ว ขยายอีก แต่คนอีสานยังยากจนแบบไร้อนาคต ระบบสหกรณ์ล้มเหลวซ้ำซาก แต่ความเปลี่ยนแปลงมาถึงเมื่อเกิดนโยบายสามสิบบาท และกองทุนหมู่บ้าน เมื่อชีวิตที่ดีกลายเป็นสิทธิที่พึงได้ ไม่ต้องขายความจนประจานสิทธิ ทำให้ความสัมพันธ์ชุมชนอุปถัมภ์สู่พรรคการเมืองระดับชาติมากขึ้น
นครราชสีมาเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ อยู่ใต้อิทธิพลกลุ่มทุนไทยเชื้อสายจีนที่เติบโตมากับการค้ายุคสงครามเย็น ปัจจุบันชุมชนชนชั้นกลางขยายตัวแต่เหมือนกรุงเทพเมื่อสามสิบปีก่อน คือกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ หมอ พยาบาล วิศวกร ข้าราชการ (ส่วนท้องถิ่น) คนกลุ่มนี้ส่วนมากไม่สนใจการเมือง และดูแคลนการเมืองในระดับประชาชน
โคราชไม่ใช่เมืองเสื้อแดงแบบ organic ถ้าเทียบกับอีสานตอนบน ประชากร 2.6 ล้านคน รายได้เฉลี่ย 2.3หมื่น/เดือน/ครัวเรือน หรือ 7000/เดืิอน/คน น้อยกว่ากรุงเทพ เกือบครึ่งหนึ่ง
ความตื่นตัวทางการเมืองของคนโคราช มีเรื่องผลประโยชน์ทางชนชั้นอย่างเด่นชัด นักการเมืองท้องถิ่นรายใหญ่ ตระกูลดัง สามารถถูกโค่นจากการเลือกตั้งได้ในครั้งเดียวถ้าขัดประโยชน์ประชาชน
การไม่มีการเลือกตั้งยาวนานส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชนแรงงานนอกระบบขยายตัวด้วยอิสระของกลุ่มทุน ห้างสรรพสินค้่แบรนด์กรุงเทพขยายตัว เช่นเดียวกับกลุ่มทุนอสังหา แต่คุณภาพชีวิตคนโดยรวมกลับตกต่ำ
สิ่งที่คนโคราชส่วนใหญ่อันดับแรกต้องการคงไม่ใช่ห้างชนชั้นกลาง ถนนมอเตอร์เวย์มหาวิทยาลัยราคาแพงใหญ่โต หรือสนามกีฬานานาชาติหรูหรา
ในวันนอกเทศกาล บขส.โคราช เงียบเหงา การกลับบ้านกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับแรงงานนอกระบบที่ยากจน 30 ล้านคนทั่วประเทศ
กระสุนนัดแรกที่จะเปลี่ยนโคราช และเมืองอื่นๆคือ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร การทำให้ทุกคนหายใจได้เต็มปอดอย่างมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่ากัน เงินเลี้ยงดูบุตร ประกันการว่างงานที่ใช้ได้จริง การศึกษาที่ฟรีอย่างแท้จริง บำนาญประชาชน แบบถ้วนหน้า จะเป็นสิทธิที่ก้าวหน้ากว่า 30 บาทและกองทุนหมู่บ้านที่เคยเปลี่ยนชีวิตผู้คน
ทรัพยากรที่มีค่าของที่นี่ แม้ไม่มีแหล่งท่องเที่ยว เกษตรแห้งแล้ง หน้าฝนน้ำท่วม หน้าร้อนดินแล้ง แต่ประชาชนมหาศาล 2.6 ล้าน ถ้าผ่านการพัฒนารัฐสวัสดิการ ผู้คนย่อมสามารถท้าทายทุกความเป็นไปไม่ได้ทั้งทางเศรษฐกิจ-การเมือง
แต่อย่าลืมว่าเงื่อนไขเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับ2560ที่วางเงื่อนไขการมองคนไม่เท่ากัน สนับสนุนคนรวยและบริจาคสงเคราะห์ให้คนจน
https://www.facebook.com/sustarum.t/posts/1958342327523570