นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค กล่าวให้ความเห็นว่าถึงเวลาที่ต้องทบทวนกติกาธุรกิจน้ำมัน โดยระบุว่า “ปริมาณการใช้นำมันของประเทศไทยแต่ละวันมหาศาล ดังนั้น หากมีกติกาใด ที่ทำให้ธุรกิจในห่วงโซ่ ห่วงใดห่วงหนึ่ง มีกำไรได้สูงกว่าอัตราปกติเท่าที่ควร …
แม้จะเป็นอัตราเพียงเล็กน้อย แต่ก็จะทำให้ธุรกิจในห่วงโซ่นั้น สามารถมีกำไรมหาศาล …
และผู้ที่จะต้องแบกรับภาระ ที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้มีกำไรมหาศาล เกินกว่าปกติ ก็คือประชาชนผู้บริโภคทั้งหมดนั่นเอง
ปีนี้ เป็นปีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระดับ 40 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล ไปเป็นระดับ 70 ดอลล่าร์
ทำให้ประชาชนผู้บริโภค ตั้งข้อสงสัยว่า มีบริษัทในห่วงโซ่ธุรกิจน้ำมัน ที่ได้กำไรเกินกว่าปกติหรือไม่?
สาเหตุที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยเรื่องนี้ เนื่องจากเห็นว่า ตั้งแต่มีการปฏิวัติในปี 2557 มีปรากฏการณ์หลายครั้ง ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง …
แต่ราคาขายปลีกในประเทศไทยไม่ลด หรือลดลงน้อยมาก
ผมจำได้ว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ ในเวทีสาธารณะที่มีการถกเถียงกันเรื่องสัมปทานปิโตรเลียม
ในห่วงโซ่ธุรกิจน้ำมันนั้น ห่วงโซ่ซึ่งมีนัยสำคัญสูงสุด คือห่วงโซ่ของโรงกลั่นน้ำมัน และห่วงโซ่ของการขายส่งขายปลีกน้ำมัน
สำหรับห่วงโซ่ของการขายส่งขายปลีกน้ำมันนั้น …
ขณะนี้ ดูเหมือนจะมีการแข่งขันกันมากพอสมควร โดยผู้เล่นแต่ละราย ไม่มีรายใดที่ครองสัดส่วนการตลาด ที่สูงมากเป็นพิเศษ
แต่สำหรับห่วงโซ่ของโรงกลั่นน้ำมัน …
ประชาชนทั่วไปยังมีข้อกังวลว่า มีกติกาใดที่ยังขาดความเหมาะสมหรือไม่? ผู้ที่เป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมัน ได้กำไรเกินกว่าอัตราปกติที่ควรจะเป็นหรือไม่?
ในเรื่องนี้ผมพบว่า น่าจะมีกติกาที่ไม่เหมาะสม อยู่สองเรื่องด้วยกัน
หนึ่ง สำหรับน้ำมันที่ค้นพบในประเทศไทย แล้วนำขึ้นมากลั่นในไทย เพื่อใช้ในประเทศไทยนั้น …
ไม่ควรอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่น ที่ประเทศสิงคโปร์
เนื่องจากน้ำมันส่วนนี้ ไม่ใช่น้ำมันนำเข้าจากตะวันออกกลาง จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องเอื้อเฟื้อ ให้โรงกลั่นน้ำมันได้รับกำไร เกินกว่าอัตราปกติ
รัฐควรกำหนดเพดานราคา สำหรับน้ำมันส่วนนี้ โดยพิจารณาต้นทุนของภาคธุรกิจ แล้วกำหนดอัตรากำไร เพียงเท่าที่พอเหมาะพอสม
สอง สำหรับน้ำมันที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และทำการกลั่นในประเทศไทย เพื่อใช้ในประเทศไทยนั้น …
ในอดีตที่ผ่านมา รัฐได้กำหนดราคาเทียบกับหน้าโรงกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์แต่ + ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง จากประเทศสิงคโปร์เข้ามายังประเทศไทย ให้แก่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยด้วย
ค่าใช้จ่ายในการขนส่งดังกล่าว เป็นค่าใช้จ่ายเทียม และกำหนดขึ้นเพื่อเปรียบเทียบกับราคา โดยสมมุติว่า น้ำมันดังกล่าวมีการกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์ แล้วขนส่งมาใช้ที่ประเทศไทย
โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ไม่มีโรงใดที่มีการควักกระเป๋า จ่ายเงินค่าขนส่งดังกล่าวจริงๆ เลย
เป็นเพียงค่าใช้จ่ายสมมุติ ที่ตั้งขึ้น เพิ่มเป็นรายได้ให้แก่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย …
ในช่วงที่ประเทศไทยยังไม่มีโรงกลั่น หรือมีโรงกลั่น แต่กำลังการผลิตยังไม่พอที่จะใช้งานในประเทศ
กติกาดังกล่าว จึงทำให้โรงกลั่นน้ำมันได้กำไรในอัตราที่สูง เป็นการจูงใจให้มีการลงทุนก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันกันมาก
แต่เมื่อใดที่มีโรงกลั่นน้ำมันมากเพียงพอแล้ว กติกานี้ก็ควรจะต้องเปลี่ยนแปลง!!!
แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมา ไม่ได้มีใครแตะต้องกติกานี้ หรือหยิบยกขึ้นมาทบทวน
ถามว่า – ถ้าให้ความเป็นธรรมแก่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ควรจะกำหนดอย่างไร?
สำหรับน้ำมันส่วนที่นำเข้าจากตะวันออกกลาง และนำมากลั่น ที่โรงกลั่นน้ำมัน ทั้งที่ในประเทศสิงคโปร์ และในประเทศไทย ควรจะกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นที่เท่ากัน
ดังนั้น ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ก็ควรจะเท่ากับราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันที่ประเทศสิงคโปร์
เพราะทั้งสองกรณีดังกล่าว โรงกลั่นน้ำมันนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเหมือนกัน …
การกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมัน ที่เท่ากัน จึงเป็นธรรมสำหรับโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย
แต่ทั้งนี้ ในเมื่อปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังการกลั่นน้ำมันมากเพียงพอแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ได้รับประโยชน์จากค่าขนส่งเทียม จากประเทศสิงคโปร์เข้ามาประเทศไทย อีกต่อไป!
กำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศไทยขณะนี้ มิใช่เพียงพอที่จะใช้ในประเทศเท่านั้น …
แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป …
เป็นหนึ่งในสองประเทศในอาเซียน คู่กับประเทศสิงคโปร์เท่านั้น!
ถ้าหากจะบอกว่า โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย มีต้นทุนในการขนส่ง ที่สูงกว่าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศสิงคโปร์
ก็ต้องเปรียบเทียบค่าขนส่งน้ำมันดิบ จากตะวันออกกลางมายังประเทศสิงคโปร์ กับค่าขนส่งน้ำมันดิบ จากตะวันออกกลางมายังประเทศไทย
ถ้าจะให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ได้รับประโยชน์จากส่วนต่างค่าขนส่ง ก็จะมีเฉพาะส่วนต่างตรงนี้เท่านั้น
แต่การขนส่งทางเรือ ในระยะทางไกลจากตะวันออกกลาง มายังประเทศสิงคโปร์ เปรียบเทียบกลับมายังประเทศไทย น่าจะมีข้อแตกต่างไม่มาก
ดังนั้น จึงอาจจะไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องบวกส่วนต่างค่าขนส่งตรงนี้
ผมจึงคิดว่า เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ ของรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ ที่ไม่มีผลประโยชน์ทางด้านการเมือง …
จะต้องรื้อกติกานี้ และกติกาอื่นๆ ถ้ามีกติกาใดที่ให้ประโยชน์เกินกว่าที่ควร แก่ภาคธุรกิจในห่วงโซ่น้ำมัน ไม่ว่าห่วงโซ่ใด
นอกจากนี้ รัฐบาลควรจะต้องคำนึงว่า …
การที่จะเปิดให้มีการใช้กลไกตลาด หรือราคาตลาด ในการกำกับดูแลพรรคธุรกิจนั้น ห่วงโซ่ทุกห่วง ในโซ่ธุรกิจ จะต้องมีการแข่งขันกันอย่างเสรี …
จะต้องไม่มีผู้ใดผูกขาด
จึงถึงเวลาที่รัฐบาลนี้ จะแก้ไขกติกา และทบทวนกฎระเบียบทั้งหมด เพื่อทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนผู้บริโภคอย่างแท้จริง”
"ถึงเวลาต้องทบทวนกติกาธุรกิจน้ำมัน"ปริมาณการใช้นำมันของประเทศไทยแต่ละวันมหาศาล ดังนั้น หากมีกติกาใด…
โพสต์โดย Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เมื่อ วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2018