หน้าแรกการเมือง'ศรีสุวรรณ' ยื่นหนังสือ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' กรณีเหยียดหยามศาสนาในการจับกุม 'พุทธะอิสระ'

‘ศรีสุวรรณ’ ยื่นหนังสือ ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ กรณีเหยียดหยามศาสนาในการจับกุม ‘พุทธะอิสระ’

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางเข้าไปยื่นหนังสือต่อสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีเหยียดหยามศาสนาในการจับกุมพุทธะอิสระตามที่ปรากฏเป็นการทั่วไปในการดำเนินการของของเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยคอมมานโดพร้อมอาวุธครบมือ ในการเข้าจับกุมพระพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม เมื่อเช้ามืดวันที่ 24 พ.ค.ตามคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางโซเชียมีเดีย โดยมีการทุบประตู และเข้าจับกุมขณะอยู่บนที่นอน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ไปทั่วสังคมออนไลน์อย่างล้นหลามต่อเนื่อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมและอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาจมีความผิดในลักษณะเหยียดหยามศาสนาตามบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 และเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 , 29 วรรค 2, 31 และมาตรา 67 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาโดยชัดแจ้ง

ทั้งนี้กรณีของพระพุทธอิสระนั้นในทางกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระพุทธอิสระไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีเลยแต่อย่างใด ยังคงเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ ณ กองปราบปราบฯในหลาย ๆ กรณี และไปขึ้นศาลในคดีความต่าง ๆ เรื่อยมา เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจพึงที่จะต้องมีหมายเรียกผู้ต้องหามาสอบปากคำก็เพียงพอแล้ว มิใช่ใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยใช้กองกำลังคอมมานโดนับร้อยเข้าดำเนินการเข้าจับกุม ทำลายทรัพย์สิน และใช้วาจาในลักษณะเดียวกันกับบุคคลทั่วไปที่เป็นผู้ก่อการร้ายหรือผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง

กรณีดังกล่าวแม้นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงจะออกมากล่าวขอโทษต่อประชาชนและศิษยานุศิษย์ของพระพุทธอิสระแล้วก็ตาม แต่ทว่าคำขอโทษก็เป็นเพียงลมปากที่ใช้เป็นบรรทัดฐานในทางกฎหมายถึงการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไปในอนาคตไม่ได้

ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จำต้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 50(1) เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งศาสนา จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ ในการเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา อันก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่พระภิกษุโดยไม่จําเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ รวมทั้งตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีดังกล่าว และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img