หน้าแรกบทความรายงานพิเศษการเมือง: ครบรอบ4ขวบปีแห่งการทำรัฐประหารของ 'บิ๊กตู่'

รายงานพิเศษการเมือง: ครบรอบ4ขวบปีแห่งการทำรัฐประหารของ ‘บิ๊กตู่’

วันนี้ 22 พฤษภาคม 2561 ครบรอบ4 ปี แห่งการทำรัฐประหารของ”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)ในขณะนั้น จึงขอนำบรรดาท่านไปรำลึกนึกถึงเหตุการณ์ในครั้นนั้นกันอีกครั้ง แห่งหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ควรจดจำเป็นอีกหนึ่งบทเรียน

จากกรณีที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ ได้มีการชุมนุมยืดเยื้อข้ามปี เพื่อให้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากรัฐบาลรักษาการ เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภาฯเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 แต่ไม่ยอมลาออก แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรี พร้อมกับรัฐมนตรีอีก 9 คน จากกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)โดยมิชอบก็ตาม แต่ก็นั้นก็ตาม รัฐบาลรักษาการในขณะนั้นซึ่งเปรียบเสมือนรัฐบาลไร้หัว เพราะไม่มีนายกรัฐมนตรี รักษาการแล้ว มีเพียงนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ และรัฐมนตรีรักษาการที่เหลืออีกบางส่วน ก็ไม่ยอมลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.

ขณะที่ กปปส.ได้ถูกมือมืดลอบยิงระเบิดเอ็ม 79 และกราดยิงเอ็ม 16 เข้าใส่หลายครั้งหลายสถานที่ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ต้องออกแถลงการณ์เตือนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงว่า หากยังไม่หยุดใช้อาวุธสงครามต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทหารอาจจำเป็นต้องออกมาระงับเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหลายฝ่ายเริ่มตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะทำรัฐประหารหรือไม่

ในขณะที่ฟากฝั่งวุฒิสภา ได้มีแนวคิดเสนอนายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี(ครม)คนกลาง เพื่อให้เกิดการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยตัวแทนวุฒิสภาได้หารือกับนายนิวัฒน์ธำรง ในฐานะปฏิบัติหน้าที่นายกฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 เพื่อขอให้ลาออก เปิดทางให้มีนายกฯ และ ครม.คนกลาง แต่หลับไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะรัฐมนตรีที่เหลือต่างยืนยันไม่ลาออก ขณะที่วุฒิสภาเล็งเดินหน้าเสนอนายกฯ คนกลางต่อไป ท่ามกลางความไม่พอใจของพรรคเพื่อไทย(พท.)และกลุ่มแนวร่วประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดย นปช.ขู่จะชุมนุม หากวุฒิสภาเสนอนายกฯ ตามมาตรา 7 ขณะที่กลุ่ม กปปส.สนับสนุนให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา เสนอนายกฯ คนกลาง แต่ กปปส.จะไม่รอวุฒิสภา โดยนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 23-25 พฤษภาคม และหากไม่ชนะ จะสลายการชุมนุมและมอบตัวในวันที่ 27 พฤษภาคม

แต่ปรากฏว่าในกลางดึกคืนเดียวกัน (19 พ.ค.)ล่วงเข้าวันที่ 20 พ.ค. เวลา 03.00น. พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีผู้ชุมนุมหลายกลุ่มทั่วประเทศ รวมทั้งกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ใช้อาวุธสงครามทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์จลาจลอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่

ภายหลังประกาศกฎอัยการศึกได้ 1วัน (21 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.)ได้เชิญตัวแทน 7 ฝ่าย ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์บ้านเมืองมาประชุม เพื่อหาทางออกประเทศที่สโมสรทหารบก ประกอบด้วย 1.ผู้แทนรัฐบาล 2. ผู้แทนวุฒิสภา 3.ผู้แทนพรรคเพื่อไทย 4. ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ 5.ผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 6.ผู้แทน กปปส.และ 7.ผู้แทน นปช.

แต่อย่างไรก็ตามที่ประชุมไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากแต่ละฝ่ายยังยืนอยู่ในจุดเดิมของตนเอง ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จึงให้การบ้าน 5 ข้อ โดยให้แต่ละฝ่ายกลับไปคิด ก่อนมาประชุมรอบสองในวันรุ่งขึ้น (22 พ.ค.)

แต่ภายหลังการประชุมรอบสองแล้ว ก็ยังหาจุดร่วมที่ตรงกันไม่ได้อีก เพราะแต่ละฝ่ายยังคงนำเสนอแนวทางในมุมมองของตัวเองเหมือนเดิม พล.อ.ประยุทธ์จึงถามนายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการรมว.ยุติธรรม ที่มาประชุมในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาลว่า ตกลงรัฐบาลยืนยันไม่ลาออกใช่หรือไม่ ซึ่งนายชัยเกษม ตอบว่า นาทีนี้ไม่ลาออก
นั่นจึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศลั่นออกมาว่า “ถ้างั้นตั้งแต่นาทีนี้ ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง”

หลังจากนั้นในช่วงเย็นวันเดียวกัน (22 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วยบิ๊กเหล่าทัพ ประกอบด้วย”พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.),”พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย” ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), “พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร” รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.สส.) และ “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดยให้เหตุผลที่ยึดอำนาจครั้งนี้ว่า เนื่องจากได้เกิดความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุการณ์มีแนวโน้มขยายตัว จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าว กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และประชาชนในชาติเกิดความรัก สามัคคี ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น.เป็นต้นไป

หลัง คสช.นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยึดอำนาจการปกครอง คสช.ได้ออกประกาศแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช.,พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส., พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร., พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ., พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เป็นรองหัวหน้า คสช. และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ.เป็นเลขาธิการ คสช.

ทั้งนี้ คสช.ได้ออกประกาศต่างๆ ตามมา ได้แก่ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และออกประกาศห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-05.00 น.วันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นไป เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และให้สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทุกแห่ง งดรายการปกติของทางสถานี และถ่ายทอดรายการจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบก

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเมื่อวันที่ 24 พ.ค. คสช.ได้อนุญาตให้ทีวีและวิทยุออกอากาศได้ตามปกติแล้ว ยกเว้นทีวีดาวเทียม 14 สถานีและวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย โดยอ้างว่า ทีวีทั้ง 14 สถานี ยังออกอากาคข่าวที่มีลักษณะโน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ส่วนสื่อออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ห้ามปลุกระดมหรือนำเสนอข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. ฯลฯ

นอกจากนี้ คสช.ยังได้ออกประกาศให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมทั้งให้คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้า คสช. ให้วุฒิสภาสิ้นสุดลงเช่นกัน พร้อมประกาศว่า กรณีที่มีเรื่องใดต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้า คสช.ในจากสภาผู้แทยราษฎร วุฒิสภา ให้หัวหน้าคสช.ให้ความเห็นชอบแทน

หลังจากนั้น คสช.ยังได้ออกประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป และให้ผู้ชุมนุม ทุกกลุ่มยุติการชุมนุม รวมทั้งให้บุคคลต่างๆ เข้ารายงานตัว ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นักการเมืองพรรคต่างๆ นักวิชาการ แกนนำและแนวร่วมกลุ่ม นปช.-กปปส. รวมกว่า 150 คน ซึ่งบุคคลต่างๆ ที่เข้ารายงานตัว คสช.จะพิจารณาเป็นกรณีไปว่าใครจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อใด และใครจะถูกควบคุมตัวไว้ก่อน แต่จะควบคุมตัวไว้ไม่เกิน 7 วัน

แต่ก็มีหลายคนที่ คสช.ออกประกาศเรียกให้ไปรายงานตัว แล้วไม่ไป เช่น นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยนายจารุพงศ์ ได้โพสต์ภาพลงเฟซบุ๊กมีข้อความเขียนด้วยลายมือว่า “…ผมไม่ยอมไปรายงานตัวกับพวกกบฏ เพราะผมเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยประชาชนแต่งตั้งมา ผมตั้งใจต่อต้านกบฎทุกรูปแบบกับพลังประชาชนเสรีไทย ผมปลอดภัยดี ผมหลบอยู่ในภาคอีสานครับ…”

ด้าน คสช.ได้ออกคำสั่งให้สถาบันการเงินระงับการทำธุรกรรมทางการเงินของนายจารุพงศ์ รวมทั้งให้สถาบันการเงิน และนิติบุคคล ส่งข้อมูลการทำธุรกรรมการเงินย้อนหลังของนายจารุพงศ์ ระหว่างวันที่ 1 มี.ค.-24 พ.ค. 2557 ให้ คสช.ด้วย

ทั้งนี้ หลัง คสช.ทำการรัฐประหารรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มีปฏิบัติการกวาดล้างอาวุธสงครามเป็นการใหญ่ โดยมีการจับกุมผู้ต้องหาพร้อมอาวุธสงครามได้จำนวนมากในหลายจังหวัด ซึ่งหลายกรณีมีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม นปช.และคนเสื้อแดง

พล.ต.ธวัช สุกปลั่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2 เผยว่า กองทัพภาคที่ 2 ได้รับแจ้งว่าจะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีออกปฏิบัติการในลักษณะกวนเมืองขอนแก่น ชื่อกลุ่ม “ขอนแก่นโมเดล” โดยจะใช้วิธีก่อกวนทั้งเมือง เพื่อให้เกิดจลาจลขึ้น หลังสืบทราบว่ากลุ่มดังกล่าวพักอยู่ใน “ชลพฤกษ์อพาร์ตเมนต์” จึงได้เข้าตรวจค้นจับกุม โดยผู้ต้องหาสารภาพว่า ได้รับคำสั่งจากแกนนำ นปช. ให้ก่อเหตุในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อเป็น “ขอนแก่นโมเดล”

นอกจากการกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหาพร้อมอาวุธสงครามแล้ว คสช.ยังได้ออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่ง เช่น ให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ โดยยังคงเป็นรองหัวหน้า คสช. และให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผบ.ตร.รักษาราชการแทนผบ.ตร., ให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ ฯลฯ

ต่อมา วันที่ 26 พ.ค. ได้มีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่หอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.)โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส., พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผปบ.ทอ., พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร.และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตผบ.ตร.ในฐานะรองหัวหน้า คสช.

ทั้งนี้ พระบรมราชโองการฯ มีใจความสำคัญสรุปว่า ด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้นำความกราบบังคมทูลว่า เนื่องจากได้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ กทม. และพื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มขยายตัวจนอาจนำไปปสู่เหตุการณ์ร้ายแรงหรือเหตุจลาจล ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ให้ประชาชนในชาติเกิดความรัก สามัคคี ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและอื่นๆ อันจะก่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย คณะทหารและตำรวจ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า จึงได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม2557 เวลา 16.30 น.เป็นต้นไป

หลังรับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนพร้อมถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ได้ตั้งไว้ และว่า บ้านเมืองมีปัญหา จะต้องยุติปัญหาให้ได้ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้มุ่งหวังเข้าสู่อำนาจหรือมีประโยชน์ พร้อมยืนยัน “การใช้อำนาจต้องระมัดระวัง การมีอำนาจมาก ยิ่งต้องทำตัวให้เล็กลง อย่าคิดว่าตัวเองมีอำนาจแล้ว จะทำได้ทุกอย่าง ไม่เคยคิดอย่างนั้น”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ครบ 4 ปี ของการเข้ายึดอำนาจ ได้เกิดกระแสต่อต้านรวมตัวในการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 22พฤษภาคมนี้ จะมีการเคลื่อนการชุมนุมจากบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มายังทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทาง คสช.ขอผู้ชุมนุมอย่าเคลื่อนขบวนออกมานอกมหาวิทยาลัย เพราะเกรงว่า จะเกิดเหตุการณ์ปะทะกันได้ นอกจากนี้ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมยึดตามกรอบกฎหมายในการชุมนุม โดยหน้าที่หลักในการดูแลการชุมนุมจะเป็นหน้าที่ของตำรวจ ในการเตรียมการต่าง ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องประคับประคองสถานการณ์

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้กล่าวยืนยันเตรียมนำมวลชน ไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 22 พฤษภาคม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ลงจากอำนาจ จัดการเลือกตั้ง แม้ว่า คสช. จะพยายามออกมาห้ามปราบ แต่ทุกอย่างยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม รวมทั้งข้อเรียกร้องก็ยังคงเป็นเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

“ยืนยันว่า ที่ผ่านมามีการเจรจากับฝ่ายความมั่นคง เกี่ยวกับการชุมนุมอยู่ตลอดเวลา เพราะมั่นใจว่า เราไม่ได้สร้างความวุ่นวาย หรือทำอะไรที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง พิสูจน์ได้จากการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา เช่น การเคลื่อนผุ้ชุมนุมไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เราใช้ถนนเพียงช่องทางเดียวเท่านั้น แต่กลับมีเจ้าหน้าที่มาดิสเครดิตว่า เราไปสร้างความวุ่นวาย”

ทั้งนี้นายรังสิมันต์ ยังกล่าวเรียกร้องให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมกันให้มากๆ โดยจะพยายามเดินไปให้ถึงทำเนียบรัฐบาลให้ได้ หากมีเจ้าหน้าที่ขัดขวางหรือเกิดการประจันหน้ากันขึ้นมา กลุ่มได้ตั้งทีมสันติวิธีไว้แล้ว โดยจะมีหน้าที่เจรจาประสานงาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับผู้ชุมนุม ส่วนจะค้างคืนหรือไม่ ก็คงต้องแล้วแต่สถานการณ์ แต่เบื้องต้นยืนยันว่า จะไม่มีการค้างคืน และว่าเขาชินแล้วกับการกังวล หากถูกจับกุม 4 ปีที่ผ่านมา โดนจับเข้าคุกมาแล้ว 4 ครั้ง เรื่องดังกล่าวยืนยันว่า อยู่ดีๆ ก็คงไม่มีใครอยากเข้าคุกแน่นอน

ครับ…ครบรอบ 4 ขวบปี ที่กำลังมีความเคลื่อนไหวทางการเมือง ของกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐประหาร โดยเฉพาะกับ”กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ได้ออกมาประกาศลั่น จะนำทัพบุกทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้ จึงต้องติดตามจับตาบริบท ในแต่ละก้าวย่าง มิใข่หรือ??!!


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img