นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ในเรื่อง จี้รัฐบาลเร่งควบคุมราคาน้ำมัน-ก๊าซหุงต้ม หากทำไม่ได้ให้คืนอำนาจประชาชน โดยระบุว่า “ตามที่ปรากฏเป็นการทั่วไปว่าผู้ค้าน้ำมัน-ก๊าซหุงต้มทุกยี่ห้อ ต่างพาเหรดกันขึ้นราคาหลายต่อหลายครั้งอย่างผิดปกติในรอบ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการรถขนส่งผู้โดยสาร-รถบรรทุกสินค้า ใช้เป็นข้ออ้างในการขอปรับขึ้นราคาค่าโดยสารและค่าขนส่งอยู่ในขณะนี้ ซึ่งสมาคมฯขอคัดค้านอย่างเต็มที่ และจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้สินค้าและบริการทั้งระบบขยับตัวปรับราคาขึ้นไปให้แพงทั้งแผ่นดิน เคราะห์กรรมก็จะตกอยู่กับประชาชนหรือผู้บริโภคอย่างหนี้ไม่พ้น
กรณีที่เกิดขึ้น จึงสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลว-ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล คสช. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และ รมว.กระทรวงพลังงานโดยตรง ทั้ง ๆ ที่มีอำนาจอยู่ล้นมือในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหา แต่กลับปล่อยปละละเลยและนอนฝันอยู่แต่เรื่องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตลาดที่มีบทสรุปสุดท้ายคือการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนผู้ค้าน้ำมันและก๊าซหุงต้ม โดยผลักภาระมาให้กับประชาชนเท่านั้น
ทั้งนี้รัฐบาลมีเครื่องมือหรือกลไกการควบคุมราคาน้ำมัน-ก๊าซหุงต้มได้อยู่แล้วนั่นคือ “กองทุนน้ำมัน” ซึ่งปัจจุบันมีสะสมอยู่มากกว่า 31,580 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับไม่นำมารักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า “เพื่อรักษาระดับการขายปลีกราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ให้สูงเกินกว่าระดับที่คณะรัฐมนตรีกำหนด” ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลในต่างจังหวัดเกินกว่า 30 บาท/ลิตร ส่วนน้ำมันเบนซินเกินกว่า 38 บาท/ลิตรไปแล้ว ในขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลราคาเพียง 19.53 บาท ส่วนเบนซินอยู่ที่ 20 บาทเท่านั้น แต่เพราะการกำหนดโครงสร้างราคาพลังงานที่บิดเบือนขูดรีดผู้บริโภคผ่านระบบภาษีหลายประเภท ประกอบด้วย ภาษีสรรพากร ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าการตลาด ซึ่งรวมแล้วจะประมาณ 16-18 บาท/ลิตรเลยทีเดียว ซึ่งหากรัฐบาลจะรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มเพื่อช่วยประชาชนได้อย่างแท้จริง ต้องใช้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 โดยยกเลิกภาษีสรรพากร ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน โดยเก็บแต่เพียงภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ก็จะสามารถคลี่คลายปัญหาได้ทั้งหมด
ส่วนก๊าซหุงต้มนั้นมีการปล่อยให้ปรับราคาขึ้นถึง 3 ครั้งในรอบหนึ่งเดือนอย่างไม่มีเหตุผล เริ่มจากวันที่ 1 พ.ค ขึ้นราคา 0.5016 บาท/กก.เท่ากับขึ้นราคาถังละ 7.524 บาท วันที่ 8 พ.ค ขึ้นราคา 0.6946 บาท/กก. ถังละ 10.419 บาท วันที่ 16 พ.ค ขึ้นราคา 0.5714 บาท/กก. ถังละ 8.571 บาท และวันนี้ 22 พ.ค.ขึ้นราคาอีก 1.5485 บาท/กก. เท่ากับว่าก๊าซหุงต้มเดือน พ.ค. ถังขนาด 15 กก.ขึ้นราคาไป 3.31 บาท/กิโลกรัม หรือถังละ 49.65 บาทกันเลยทีเดียว ซึ่งยังไม่เคยมีปรากฎการณ์ขึ้นราคาก๊าซหุงต้มกันแบบมหาโหดเช่นนี้มาก่อนเลย ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยมากว่าก๊าซหุงต้มราคาตลาดโลกอยู่ที่ราคาประมาณ 15 บาท/กก. แต่ราคาในประเทศที่มาจากก๊าซอ่าวไทยกลับมีราคาหน้าโรงแยกก๊าซที่ 18 บาท สูงกว่าราคาตลาดโลกประมาณ 3 บาท
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาล คสช. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และกระทรวงพลังงาน ไม่ได้แสดงออกถึงความมุ่งมั่น ความสามารถในการจัดการ ควบคุม และแก้ไขปัญหาน้ำมัน-ก๊าซหุงต้มได้ ตามที่ประชาชนคาดหวังได้เลย แม้รัฐบาลจะมีอำนาจอยู่เต็มมือแต่กลับนิ่งเฉย ก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนั่งบริหารประเทศอยู่ต่อไป และวันนี้ถือว่าเป็นวันครบรอบของการยึดอำนาจอย่างไม่เป็นประชาธิปไตยมาจากประชาชน
ดังนั้นควรถือโอกาสในวันนี้เร่งประกาศ “คืนอำนาจ” ให้กับประชาชนเสีย เพื่อที่ประชาชนจะได้ใช้กลไกการเลือกตั้ง เป็นเครื่องมือในการชี้ว่าผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตต้องเป็นผู้ถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งหรือไม่ หากรัฐบาลและ คสช. คิดว่าตนมีอำนาจล้นฟ้า ยังเพิกเฉย ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ก็เชื่อว่าอีกไม่นานประชาชนจะสอนบทเรียนทางประวัติศาสตร์การเมืองที่มีค่ายิ่งต่อการบริหารราชการที่ไม่ใส่ใจต่อความทุกข์ยากและเดือดร้อนของประชาชน และเมื่อถึงวันนั้นก็ยากที่จะคาดเดาอนาคตของผู้ที่เพิกเฉยต่อความทุกข์ร้อนของประชาชน เพราะ “แม้มีอำนาจล้นฟ้า แต่ก็ไม่เหนือไปกว่าอำนาจประชาชน”