ขับเคลื่อนการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ
วันที่ 13 มิถุนายน 2565 พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ตามนโยบายรวมไทยสร้างชาติและขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together) ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งการบูรณาการความร่วมมือของส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนทุกภาคส่วน รวมพลังกันเพื่อทำนุบำรุงสถาบันหลักของชาติ ได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในทุกมิติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยดำเนินโครงการ “สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการป้องกันอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together)” โดยมีเป้าหมาย “เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและแก้ไขปัญหา ชุมชนสังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างยั่งยืน” โดยมอบหมายให้ ตน และ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า ในวันนี้ ตนได้เดินทางลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อขับเคลื่อนและตรวจติดตามผลการดำเนินการ ให้คำปรึกษาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องการดำเนินการตามโครงการฯ ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 5 โดยได้ร่วมประชุมสรุปผลการดำเนินการร่วมกับตำรวจภูธรภาค 5 ทั้ง 8 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พร้อมหัวหน้าสถานีตำรวจและข้าราชการตำรวจในสังกัด ภ.จว.เชียงราย และตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตำรวจภูธรภาค 5 ได้มีการอบรมเครือข่ายประชาชนที่เป็นผู้นำ และผู้มีบทบาทในสังคมทุกสาขาอาชีพ จาก 159 สถานีตำรวจ สถานีตำรวจละ 50 คน รวม 7,950 คน
ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึงปัจจุบัน ได้รับรายงานปัญหาที่ประชาชนเดือนร้อน จำนวน 640 เรื่อง และได้ติดตามขับเคลื่อนและเร่งรัดให้หน่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นแล้ว 608 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาด้านสังคม จำนวน 476 เรื่อง ปัญหาด้านเศรษฐกิจ จำนวน 21 เรื่อง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 80 เรื่อง และปัญหาความขัดแย้ง จำนวน 31 เรื่อง และอยู่ระหว่างหน่วยดำเนินการแก้ไข โดยคาดว่าจะแก้ไขได้ จำนวน 32 เรื่อง
จากนั้น พล.ต.ท.ประจวบฯ ได้เดินทางลงพื้นที่พบปะเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.แม่จัน จ.เชียงราย เยี่ยมเยียนและพบปะประชาชนทั้งในพื้นที่และผ่านทางแอปพลิเคชันคลับเฮาส์การมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านโพธนาราม และมอบสิ่งของให้กับประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือตามโครงการฯ สอบถามและรับฟังความคิดเห็น รับทราบสภาพปัญหาและความต้องการ ตลอดจนข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาจากเครือข่ายภาคประชาชนในชุมชนบ้านโพธนารามและชุมชนบ้านสันกอง พร้อมทั้งตรวจติดตามผลการแก้ไขปัญหาของทุกชุมชนใน อ.แม่จัน จ.เชียงราย
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวว่า ผลการปฏิบัติของ สภ.แม่จัน ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตามโครงการฯ ในพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่น่าพอใจในห้วงเวลาที่ผ่านมา เช่น (1.) ด้านเศรษฐกิจ ประสานสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่จัน ดำเนินโครงการจัดหาแหล่งน้ำ พร้อมการบริหารจัดการเส้นทางน้ำอย่างยั่งยืน และประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาอำเภอแม่จัน ดำเนินโครงการขยายไฟฟ้าเพื่อการเกษตรของหมู่บ้านเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิต ประสานเกษตรอำเภอแม่จันส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้และกำหนดราคาที่คุ้มทุนได้ ลดการกู้หนี้นอกระบบและลดปัญหาหนี้สิน, (2.) ด้านสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยครั้งบนถนนทางการเกษตรและถนนสาธารณะ และจัดชุดจิตอาสา สภ.แม่จัน ร่วมกิจกรรมปรับปรุงเส้นทางร่วมกับชาวบ้านในชุมชนจนแก้ไขปัญหาได้สำเร็จลุล่วง, (3.) ด้านสังคม ติดตั้งเครื่องหมายและสัญลักษณ์จราจรแจ้งเตือน ประสานเทศบาลตำบลสันทราย เพื่อทาสี ตีเส้นบนผิวทางและเสาไฟฟ้าเพื่อลดอุบัติเหตุ แก้ไขปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่างในชุมชน วางระบบป้องกันภัยหมู่บ้าน และติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดทั่วพื้นที่ชุมชน
(4.) ด้านความขัดแย้ง ได้ดำเนินโครงการวางท่อระบายน้ำและทำพนังกั้นน้ำ เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำจากแม่น้ำห้วยน้ำขุ่นเพื่อการเกษตร ระหว่างชาวบ้านสันกอง และกลุ่มชาติพันธุ์ ได้สำเร็จ, (5.) จัดตั้งแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ของทุกชุมชน เป็นช่องทางในการสื่อสารสภาพปัญหาและความต้องการของเครือข่ายภาคประชาชนกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อลดขั้นตอน อำนวยความสะดวกและความรวดเร็วในการเข้าถึงและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งให้ความรู้ทางกฎหมายและแนวทางการระวังป้องกันตนเองในอาชญากรรมรูปแบบใหม่ เช่น แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
พล.ต.ท.ประจวบ กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดชุมชนสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ประสานงานเครือข่ายของ 8 จังหวัดในสังกัดตำรวจภูธรภาค 5 และทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ให้เร่งประสานงานกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับการคัดเลือก ให้สะท้อนสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อประสานหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เข้าช่วยเหลือและทำการแก้ไข พร้อมทั้งเร่งรัดการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการในแต่ละระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด สำหรับสถานีตำรวจที่ยังมีผลการปฏิบัติน้อย ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับลงไปตรวจสอบ กำชับและกำกับดูแล ให้มีผลการปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน
“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว จะประสบผลสำเร็จ เสริมสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ แก้ไขปัญหาความต้องการและความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้ชุมชนสังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ดังนั้นสถานีตำรวจและข้าราชการตำรวจทุกนาย จักต้องดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องจริงจังให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนและสังคม มีความเชื่อถือ เชื่อมั่น ศรัทธา ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติสืบไป” พล.ต.ท.ประจวบ กล่าว