หน้าแรกกระบวนการยุติธรรม"พล.ต.อ.วิสนุ" จี้ทุกหน่วยเร่งตรวจสอบข้อร้องเรียนของ 'ปชช.' ลั่นต้องแก้ปัญหาเชิงรุก เพื่อรักษาภาพลักษณ์องค์กรตำรวจ

“พล.ต.อ.วิสนุ” จี้ทุกหน่วยเร่งตรวจสอบข้อร้องเรียนของ ‘ปชช.’ ลั่นต้องแก้ปัญหาเชิงรุก เพื่อรักษาภาพลักษณ์องค์กรตำรวจ

วันที่ 25 มีนาคม 2565 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ ได้เรียกประชุม รองผู้บัญชาการที่รับผิดชอบงานจเรตำรวจ ของหน่วยที่ทำงานสัมผัสกับประชาชน รวม 14 หน่วย ได้แก่ บช.น., บช.ภ.1-9 บช.ก.,บช.ตชด.,บช.สอท.และ สตม.ผ่านระบบการประชุมทางไกล ( Video Conference) เพื่อติดตามการทำงานของแต่ละหน่วย ตามที่ พล.ต.อ.วิสนุฯได้ให้นโยบายงานจเรตำรวจกับทุกหน่วยไป ที่เรียกว่า “ การบ้าน 3 ข้อ”

การบ้านข้อที่ 1 คือ ให้แต่ละ บช. แต่ละ บก. ไปเร่งรัดการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในความรับผิดชอบให้เสร็จสิ้นตามที่ ผบ.ตร.ได้สั่งการลงไป ตัวชี้วัดความสำเร็จในเรื่องนี้ก็คือ เรื่องร้องเรียนที่เกินกำหนดจะต้องเท่ากับศูนย์ เป้าหมายคือไม่ให้มีเรื่องร้องเรียนคงค้างเกินกำหนดเลย ซึ่ง พล.ต.อ.วิสนุ เน้นให้เร่งรัดการตรวจสอบการร้องเรียนจากประชาชนในเรื่องต่างๆให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนคงค้างที่ยังตรวจสอบไม่เสร็จสิ้นเป็นจำนวนมาก โดยย้ำว่าจะต้องเห็นใจประชาชนที่ได้รับความเเดือดร้อนหรือคับข้องใจถึงได้มีการร้องเรียนเข้ามา และกำชับให้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ตามที่ ผบ.ตร.ได้อนุมัติหลักเกณฑ์ไว้ คือ ภายใน 60 วัน และต้องแจ้งผลให้ผู้ร้องเรียนทราบในทุกกรณี รวมทั้งให้มีการประเมินความพึงพอใจของผู้ร้องเรียนเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการทำงานต่อไปด้วย, การบ้านข้อที่ 2 คือ ให้แต่ละ บช.- บก. ออกตรวจราชการหน่วยในสังกัดของตน อย่างมีคุณภาพครบ 100% ภายในกรอบเวลาที่กำหนด แล้วให้แต่ละหน่วยจัดลำดับมา ซึ่งจะให้สำนักงานจเรตำรวจลงไปตรวจซ้ำ เพื่อเป็นการ Recheck ว่าสถานีตำรวจที่มีผลการปฏิบัติดีเด่นดังกล่าว ดีเด่นจริงหรือไม่ อย่างไร นำมาเป็นแบบอย่างได้หรือไม่ ส่วนสถานีตำรวจที่พบว่ามีผลการปฏิบัติที่ควรจะต้องแก้ไขปรับปรุงนั้น ก็ให้ไปดูว่ามีปัญหาอย่างไร มีสาเหตุเกิดจากอะไร ปัญหาเกิดจากตัวบุคคลหรือว่ามีเรื่องใดที่หน่วยเหนือควรที่จะต้องเข้าไปสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาหรือไม่ สำหรับการบ้านข้อ 3 คือ ให้แต่ละ ผบช.- ผบก.ไปดูข้อมูลการร้องเรียนและการดำเนินการทางวินัยของหน่วย แล้วนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุ แล้ววางมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการทำงานเชิงรุก ไปดูสาเหตุที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนคับข้องใจที่ทำให้เกิดการร้องเรียนขึ้นมา แล้วให้ผู้บังคับบัญชาวางแนวทาง วางมาตรการเพื่อ มิให้ปัญหาเดิมๆเกิดซ้ำๆขึ้นมาอีก ซึ่งหากแก้ปัญหาได้ตรงจุดวางมาตรการได้ถูกต้อง ตัวเลขการร้องเรียนจะต้องลดลง ซึ่งตัวชี้วัดความสำเร็จ ในเรื่องนี้ก็คือ สถิติเรื่องร้องเรียนและสถิติการกระทำผิดของตำรวจจะต้องลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โดย พล.ต.อ.วิสนุ ได้เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “การทำงานในลักษณะนี้ก็เปรียบเสมือนกับแพทย์ที่วินิจฉัยโรคและจ่ายยาให้คนไข้ได้ถูกต้อง อาการของโรคจะต้องทุเลาลง ดังนั้นหากได้นำนโยบายไปปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว ตัวเลขการร้องเรียนจะสะท้อนให้เห็น“

พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวสรุปกับที่ประชุมในตอนท้าย พร้อมกับย้ำว่า “เราต้องใช้งานจเรตำรวจเป็นกลไกในการแก้ปัญหาให้ประชาชน และใช้เป็นกลไกในการรักษามาตรฐานการทำงานของหน่วยปฏิบัติ ทั้งนี้ ก็เพื่อรักษาภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในสายตาของประชาชนเอาไว้ให้ได้”

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img