ที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท ดอยคำฯเกิดจากพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9 ที่ทรงต้องการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น ทรงส่งเสริมการปลูกพืชผลไม้เมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น พร้อมทรงมีพระราชดําริให้จัดตั้งสหกรณ์ชาวเขา และโรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปขึ้น เพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างเป็นธรรม และแปรรูปผลผลิต ภายใต้ตราสินค้า “ดอยคํา” รวมถึงจัดให้มีการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา โดยจัดตั้งเป็น นิติบุคคลภายใต้ชื่อ “บริษัท ดอยคําผลิตภัณฑ์อาหาร จํากัด” ดําเนินกิจการในรูปแบบ “ธุรกิจเพื่อสังคม” ในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งดอยคำตระหนักอยู่เสมอว่าผลกำไรที่แท้จริงคือ การได้เห็นคนไทยทุกระดับกินดี อยู่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะนั้นย่อมหมายถึงความสุขที่ยั่งยืนของคนไทยทุกคน
ซึ่งบริษัทฯ เป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงก่อตั้ง โดยมีพระราชปณิธานให้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน มาแปรรูปผ่านโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปทั้ง 3 แห่ง ตีตราผลิตภัณฑ์สินค้า “ดอยคำ” ปัจจุบัน บริษัทฯ ดำเนินงานตามพระปฐมบรมราชโองการ สืบสาน รักษา และต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10
สำหรับ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ เกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและทุกข์ยากของราษฎรจากการถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาและลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่และมีรายได้ที่ดีขึ้น ปัจจุบันเป็นโรงงานหลวงฯ แห่งนี้ ได้รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรไทยในราคาที่เป็นธรรมและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพของดอยคำ
นายพิพัฒพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด โรงงานหลวงฯ ที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ ได้พัฒนาและต่อยอดในสายการผลิต สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งแบบหลอดและผลิตภัณฑ์ทาขนมปังแบบหลอดที่มาพร้อมดีไซน์ฝาบีบแบบใหม่ ที่ปาดง่าย กระจายได้ดี เพื่อให้ผู้บริโภคยุคปัจจุบันสะดวกยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ เพื่อการเรียนรู้และการวิจัย ดอยคำได้ขยายพื้นที่ในส่วนของ “โรงเก็บผลิตภัณฑ์เกษตร และโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช” ด้วยการนำเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรสมัยใหม่มาค้นคว้า ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช รวมถึงมีโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม ที่ออกแบบเป็นอาคารหลังคาโค้งคลุมพลาสติกแบบน็อกดาวน์ ทั้งหมด 14 หลัง แบ่งพื้นที่ให้เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเกษตรจากดอยคำ เข้าร่วมโครงการทดลองการผลิตสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม และส่วนหนึ่งดอยคำใช้ทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีที่ได้ปรับปรุงสายพันธุ์ด้วย.
ลักษณะศักดิ์ โรหิตาจล : ภาพ/ข่าว