หน้าแรกเศรษฐกิจ-การเงินเวทีเกียรตินาคินภัทร The Year Ahead 2022 ชี้ ไทยพลิกการผลิตรับสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเร่งด่วน รักษาโอกาสทางธุรกิจ

เวทีเกียรตินาคินภัทร The Year Ahead 2022 ชี้ ไทยพลิกการผลิตรับสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเร่งด่วน รักษาโอกาสทางธุรกิจ

บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนาใหญ่ The Year Ahead 2022 ว่าด้วยเทรนด์สำคัญประจำปี ซึ่งงานในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Year of CHANGE, in Year of CHANCES โดยมีดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ร่วมพูดคุยถึงผลกระทบเร่งด่วนของกรอบอนุสัญญา COP26 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อศักยภาพการแข่งขันของภาคการผลิตและธุรกิจของไทย ในหัวข้อ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ความท้าทายและโอกาส’ (Climate Change: Challenges and Opportunities) ทั้งนี้ งาน The Year Ahead เป็นงานสัมมนาแฟลกชิปประจำปี สำหรับลูกค้า Wealth Management ของบล.เกียรตินาคินภัทร เพื่อให้ข้อมูลสำคัญที่กระทบเศรษฐกิจการลงทุน โดยงานจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา

จากการที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นต่อประชาคมโลก ภายใต้กรอบอนุสัญญา COP26 ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ให้ได้ใน ค.ศ. 2050 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเริ่มปรับตัวเพื่อรับกับพันธะสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซมลพิษสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต (เช่น วัสดุก่อสร้าง) การขนส่ง (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์) และภาคการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการปรับตัวนี้จะสร้างทั้งความท้าทาย ความเสี่ยง และโอกาสมากมาย แต่หากไม่ปรับหรือขยับตัวช้าเกินไป ก็จะได้รับผลกระทบทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญของประเด็นนี้มากขึ้น หรือกฎระเบียบที่ประเทศต่างๆจะนำมาบังคับใช้ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้
“ถ้าประเทศไทยไม่ทำอะไรกับอุตสาหกรรมยานยนต์หรือทำช้าเกินไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ จะมีรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเข้ามา เพราะก่อนหน้านี้ที่มีการตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน ยังไม่มีรถยนต์ไฟฟ้า ไทยจึงไม่ได้ตั้งข้อสงวนไว้ รถยนต์ไฟฟ้าจึงถูกถือว่าเป็นรถยนต์ประเภทอื่นๆ ซึ่งภาษีนำเข้าที่เมืองไทยเป็น 0% ในวันนี้สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในเมืองไทยคือเราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์แบตเตอร์รี่ ได้ทันเวลาหรือไม่ ถ้าเวลาไม่พอเหมาะ หรือไปเร็วเกิน อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนก็ปรับตัวไม่ทัน แต่ถ้าช้าเกินไป ไทยอาจจะพลาดโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของอาเซียน” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ดร.สมเกียรติ ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า อุตสาหกรรมเกษตรและการผลิตอาหารก็เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวไปสู่อาหารทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากการเกษตรเป็นกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนมากถึง 17% การผลิตเนื้อวัวปล่อยคาร์บอนนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 4.3 กิกะตัน/ปี มากกว่าการผลิตเต้าหู้ถึง 30 เท่า ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารจึงจำเป็นต้องหันกลับมามุ่งเน้นการปรับตัวในกระบวนการผลิตอาหารที่ต้องลดการปล่อยคาร์บอน และโปรตีนทางเลือกก็เป็นแนวทางหนึ่งนั้น เพราะต่อจากนี้ไปผู้นำเข้าในฝั่งตะวันตกที่เป็นแกนนำในนโยบายนี้จะยกประเด็น carbon footprint มาพิจารณาเป็นหลัก

นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทยซึ่งกำลังมองหาโอกาสเป็น Cloud Server หรือ Data Center เพื่อดึงดูดธุรกิจ IT ให้เข้ามาลงทุน ยังคงจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องที่มาของพลังงานไฟฟ้า และประเด็นพลังงานสะอาดควบคู่ไปด้วย เพราะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกได้ให้คำมั่นว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ดังนั้น หากต้องการให้บริษัทอย่าง Amazon Web Service และ Microsoft Azure มาลงทุน ประเทศไทยก็ต้องมีแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับไว้ป้อนบริษัทเหล่านี้

“การเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่ Net Zero จะเกิดขึ้นทั้งโลก ถ้าเราทำอะไร เช่น ถ้าเราอยากเป็นผู้ส่งออกอาหาร แต่ไม่ปรับตัวในการลดคาร์บอน สุดท้ายก็จะทำมาหากินไม่ได้ เพราะถูกกดดันจากผู้บริโภคจำนวนมาก ถ้าไม่ทำหรือปรับตัวช้าก็จะหมดโอกาสทางธุรกิจอย่างแน่นอน เริ่มจาก อาหาร รถยนต์ และวัสดุก่อสร้าง สุดท้ายก็จะเกี่ยวข้องกันทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ” ดร.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสของเศรษฐกิจไทย

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img