เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งขาติ(ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์นำเสนอข่าว แก๊งทวงหนี้เงินกู้นอกระบบ โทรมาข่มขู่เหยื่อแจ้งว่า ติดหนี้ รวมถึงใช้กลอุบาย หลอกลวงเพื่อให้ยอมชำระหนี้นั้น ห้วงที่ผ่านมายังปรากฎว่า มีแก๊งมิจฉาชีพ แอบอ้างใช้กลอุบาย โทรหาเหยื่อแจ้งว่า ติดหนี้เงินกู้ ทำการข่มขู่ จะมาทำร้าย หรือหากไม่ชำระหนี้จะนำข้อมูลส่วนตัวไปขายต่อทำให้เสียชื่อเสียง ดังเช่นกรณีในวันที่ 29 พ.ย.64 หญิงรายนึงซึ่งเป็นแม่ค้าใน จังหวัดนนทบุรี หลงเชื่อแอปพลิเคชั่นเงินกู้ออนไลน์ จำนวน 20,000 บาท ถูกข่มขู่และคุกคามไปถึงบุคคลในครอบครัว และเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.64 สื่อสังคมออนไลน์นำเสนอคลิปวีโดโอแก๊งทวงหนี้มีการพูดคุยระหว่างอัยการท่านนึง ถูกแก๊งทวงหนี้โทรมาข่มขู่ อ้างว่า ติดยอดกู้ยืมเงิน จำนวน 3,000 บาท ซึ่งไม่ได้กู้ยืมจริง รวมถึงกรณีเมื่อวันที่ 20 พ.ย.64 ชาวบ้านใน อ.วิเชียรบุรี จว.เพชรบูรณ์ ถูกแก๊งเงินกู้ออนไลน์โทรมาทวงหนี้จำนวนรายละ 5,000 บาท โดยใช้วีธีการด่าทอและใช้คำหยาบ เป็นต้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เล็งเห็นความสำคัญและมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกู้เงินนอกระบบ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกทวงถามหนี้โดยผิดกฎหมาย จึงกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนและสืบสวนปราบปรามดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมายอย่างจริงจัง
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยกำชับไปยังทุกหน่วย ที่เกี่ยวข้องทุกพื้นที่ทำการสืบสวนหาข่าว ปราบปรามดำเนินคดีกับแก๊งทวงหนี้นอกระบบ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ ให้ประชาชนกู้ยืมเงินโดยผิดกฎหมาย เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือมีลักษณะเป็นการทำสัญญาเอารัดเอาเปรียบประชาชน การทวงถามหนี้โดยผิดกฎหมาย หรือการกู้ยืมเงินที่มีลักษณะเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นภัยที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนห้วงการแพร่ระบาดโควิด-19
จากสถิติของ ศปน.ตร. พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ต.ค.63 ถึงปัจจุบัน มีการแจ้งการกระทำความผิดซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินกู้นอกระบบกว่า 4,200 เรื่อง ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 3,400 เรื่อง คิดเป็นกว่าร้อยละ 80 อยู่ระหว่างดำเนินการ 800 กว่าเรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20 ซึ่งการกระทำความผิดที่ได้รับแจ้งเป็นจำนวนมาก คือ การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา, แอพพลิเคชั่นกู้เงินออนไลน์ และการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดําเนินการสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้กระทําความผิดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
การกระทำลักษณะดังกล่าว ในส่วนการทวงหนี้โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ฯ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การใช้วาจาดูหมิ่นหรือการเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ที่กระกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท หากมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และหากมีการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ก็อาจมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ผบ.ตร. ได้กำชับในทุกหน่วยเร่งสร้างการรับรู้ แนวทางป้องกันให้กับประชาชน ทราบถึงพิษภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ในทุกรูปแบบ และขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีหลีกเลี่ยงการถูกทวงหนี้นอกระบบผ่านสื่อสังคมออนไลน์และแนวทางการป้องกันดังนี้ (1.) หากถูกแก๊งทวงหนี้ออนไลน์แอบอ้าง โทรมาข่มขู่ ควรตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก, (2.) ทำการบันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพถ่าย คลิปวีดีโอ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อใช้ในการดำเนินคดีภายหลัง, (3.) หากมีความจำเป็นต้องกู้เงิน ควรกู้จากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้
นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) หมายเลข 1441 เวลาราชการ หรือศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) 1599 หรือ Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง