หน้าแรกทั่วไทย‘กรมชลฯ’ แจ้งเตือนระดับน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นต่อเนื่อง พื้นที่ลุ่ม เตรียมรับมือน้ำล้นฝั่ง

‘กรมชลฯ’ แจ้งเตือนระดับน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นต่อเนื่อง พื้นที่ลุ่ม เตรียมรับมือน้ำล้นฝั่ง

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ที่กรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้สื่อข่าวไทยแทบลอยด์ รายงานว่ากรมชลประทาน แจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น หลังมีฝนตกหนักทางตอนบน  คาดจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่จังหวัดนครสวรรค์ในเกณฑ์ 1,800 – 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วิ) จำเป็นต้องปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ไม่เกิน 1,500 ลบ.ม./วิ จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง พร้อมประสานจังหวัดแจ้งเตือนประชาชนแล้ว

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำสายหลักต่าง ๆ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ เพิ่มขึ้นในเกณฑ์ประมาณ 1,800 – 1,900 ลบ.ม./วิ มีการตัดยอดน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งรวม 393 ลบ.ม./วิ และควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ไม่เกิน 1,500 ลบ.ม./วิ เนื่องจากมีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องปรับการระบายน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำน้อย ในพื้นที่ตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.75 เมตร

ในช่วงวันที่ 15 – 18 กันยายน 2564 นี้ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำเต็มศักยภาพของพื้นที่ โดยมิให้มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร หากมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,500  ลบ.ม./วิ จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประสานแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำแล้ว จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานกาณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด  หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านหรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img