กรณีดังกล่าว มีข้อสงสัยอยู่ว่า อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธได้อย่างไร ในเมื่อคดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ.มาตรา 291 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะมีมีอายุความถึง 15 ปี โดยจะขาดอายุความในปี 2570 ซึ่งยังมีระยะเวลาอีกหลายปีที่ตำรวจจะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อนำคนผิดมาลงโทษได้ การเพิกถอนหมายจับ จึงอาจเป็นการใช้อำนาจอย่างเลือกปฏิบัติและทุจริตต่อหน้าที่ได้ ไม่เช่นนั้นผู้ที่กระทำความผิดในลักษณะเดียวกัน หากหนีคดีได้เพียง 7-8 ปีก็จักทำให้อัยการถอนหมายจับได้ทุกคดีทุกกรณีเช่นนั้นหรือไม่ หรือเป็นดั่งข้อครหาของสังคมที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” เท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงกระบวนการยุติธรรมไทยและระบบนิติรัฐ คงต้องปฏิรูปกันอย่างจริงจังเสียที
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเร่งดำเนินการจับผู้ร้ายข้ามแดนได้ แต่กลับโยนเรื่องกันไปมา จนคดีหมดอายุความไปแล้ว 4 ข้อหาคือ ขับรถขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินเสียหาย และไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ ส่วนคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายกลับเร่งรีบมาดำเนินการถอนหมายจับ ทั้งๆที่ยังไม่หมดอายุความ โดยที่ตำรวจก็มิได้คัดค้านแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวของอัยการสูงสุดและตำรวจเจ้าของคดี จึงอาจเข้าข่ายความผิดทางวินัยและความผิดอาญาหรือไม่ สมาคมฯจึงจำต้องนำความไปร้อง ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวนและสอบสวนเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไปในสัปดาห์หน้า