นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยการคาดคะเนถึงการจัดวันเลือกใหญ่ในครั้งต่อไปว่า คณิตศาสตร์เลือกตั้ง ว่าวันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนใด ภายใต้สมมติฐาน 3 อย่าง คือ หนึ่ง สนช.ไม่มีการรวบรวม 25 ชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ สอง นายกรัฐมนตรี สามารถนำ พ.ร.ป. ส.ส.ขึ้นทูลเกล้าได้ ก่อนสิ้นเดือนมีนาคม 2561 และสาม การประชุมร่วมระหว่าง ครม. กกต. กรธ ประธาน สนช.กับ พรรคและกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่จะมีขึ้นตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 หลังจากกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับประกาศในราชกิจจาฯแล้ว ไม่มีการเสนอจากฝ่ายพรรคและกลุ่มการเมืองว่า ขอยืดเวลาออกไปเอง เนื่องจากทำอะไรสารพัดตามที่ กฏหมายกำหนดไม่ทัน
กรณีวันเลือกตั้งจะเกิดได้เร็ว จากกรณีที่ในหลวงทรงพระราชทาน กฏหมายลงมาในเวลารวดเร็ว คือประมาณ 30 วันหลังจากนายกฯทูลเกล้าฯ โดยที่ กกต.ชุดไหนไม่รู้ที่เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง กลัวเรื่องการตีความคำว่า ต้องจัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จใน 150 วัน อาจหมายรวมถึงวันประกาศผลด้วย เลยกำหนดวันเลือกตั้งภายในเวลา 90 วัน เผื่อไว้สำหรับใบเหลืองใบแดงก่อนประกาศผลอีก 60 วัน สูตรจึงเป็นดังนี้ มีเวลาในการทูลเกล้าฯ ไปแล้ว 30 วัน รอการบังคับใช้ 90 วัน และ กกต.จัดการเลือกตั้งใน 90 วัน รวมเท่ากับ 210 วัน หรือ 7 เดือน การเลือกตั้งมีโอกาสเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2561
กรณีวันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ช้าสุด จากองค์ประกอบดังนี้ ในหลวงทรงใช้เวลาที่มีอยู่ตามกรอบของกฏหมายเต็มที่ คือ 90 วันจึงพระราชทานลงมา โดยที่ กกต.ชุดไหนไม่รู้กำหนดวันเลือกตั้งเต็มโควต้า 150 วัน โดยเห็นว่า การเลือกตั้งที่แล้วเสร็จหมายถึงการลงบัตรเท่านั้น และค่อยไปเสี่ยงกับการถูกฟ้องภายหน้าว่า. กกต.จัดการเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญสูตรจึงเป็นดังนี้ มีเวลาในการทูลเกล้าฯ ไปแล้ว 90 วัน รอการบังคับใช้ 90 วัน และ กกต.จัดการเลือกตั้งใน 150 วัน รวม 330 วัน หรือ 11 เดือน การเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นช้าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
“ในกรณีความคิดเห็นส่วนตัว ตนคิดว่าแบบทางสายกลางคือ มีเวลาในการทูลเกล้าฯ ไปแล้ว 45 วัน รอการบังคับใช้ 90 วัน และ กกต.จัดการเลือกตั้งใน 120 วัน หรือ 8 เดือนครึ่ง หรือกลางธันวาคม 2561 จะแทงสูง แทงต่ำ หรือแทงกลางๆ เลือกเอาตามใจชอบครับ” นายสมชัย ระบุ