0…วิสัชชนา”การจัดตั้งตลาด”
0…ปุจฉาบทเรียน”ป้าทุบรถ”
จากปัญหา”ป้าทุบรถ”ที่ถนนหมู่บ้านเสรีวิลล่า แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม.กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งข้อปุจฉาถึงการมีอยู่ของตลาดทั้ง 5แห่ง ในหมู่บ้าน และนำมาซึ่งกระแสในโลกออนไลน์ ของชาวเน็ตไม่เพียงเห็นอกเห็นใจกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของ”ป้า”เท่านั้น แต่ยังเห็นด้วยกับสิ่งที่ชาวบ้านในหมู่บ้านเรียกร้องมาโดยตลอด ล่าสุดกระแสโจมตีในโลกโซเชียลฯต้องทำให้ให้ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ต้องออกแรงลงลุยพื้นที่ตรวจสอบ และสั่งปิดตลาดที่ไม่มีใบอนุญาต พร้อมดำเนินคดีกับเจ้าของตลาดดังกล่าว จึงเกิดคำถามตามว่า การจัดตั้งตลาดต้องทำอย่างไร ที่หลายคนกังขา
ซึ่งเรื่องนี้ ทางรศ.ดร.คณพล จันทน์หอม ผู้ช่วยอธิการบดีด้านกฎหมาย และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้แจงเอาไว้ว่า มีกฎหมายหลายส่วนมาเกี่ยวข้อง กัน อันได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และกฎหมายควบคุมอาคาร ทั้งนี้กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการตลาด มีการบัญญัติไว้โดยตรงในพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 34 ห” ห้ามมีการจัดตั้งตลาดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น” ดังนั้นการขออนุญาตตั้งตลาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตลาดประจำหรือตลาดนัด มิฉะนั้นจะมีโทษ สำหรับขั้นตอนการดำเนินการผู้ที่ต้องการจะประกอบกิจการตลาด ต้องยื่นเรื่องต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น หลังจากมีการตรวจความถูกต้องและสมบูรณ์ของเอกสารแล้ว เจ้าหน้าที่ จะเดินทางไปตรวจสอบสภาพของสถานที่ว่าถูกสุขลักษณะของตลาดหรือไม่ ถ้ามีข้อบกพร่องต้องปรับปรุงแก้ไข จนกว่าจะได้ใบอนุญาต ในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่า เป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ.2551 ใน กทม.จะมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ตลาด (พ.ศ.2546) เช่น พิจารณาว่าตลาดประเภทไหน มีโครงสร้างอย่างไร ลักษณะสินค้าที่ขายเป็นอย่างไร เป็นต้น ส่วน พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 เป็นกฎหมายที่ต้องนำมาพิจารณาด้วยว่าพื้นที่ดังกล่าวจะนำมาสร้างตลาดได้หรือไม่ จะมีการจำแนกประเภท เช่น”ย”หรือประเภทที่อยู่อาศัย และมีการแยกย่อยของ”ย”แต่ละชนิด เช่น ประเภท “ย 3” เป็นที่ดินที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย มีวัตถุประสงค์เพื่อดำรงรักษาการอยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมดีในบริเวณชานเมือง หรือพื้นที่สีเหลือง กำหนดว่าห้ามตั้งตลาด ยกเว้นจะเป็นไปตามที่กำหนด นอกจากนี้กรณีตลาดมีสิ่งปลูกสร้าง ก็ต้องมีใบขออนุญาตก่อสร้างอาคารตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในมาตรา 21 กำหนดว่าผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น อาคารสำหรับการพาณิชยกรรม ต้องมีมาตรฐานตามที่กำหนด เช่น มีเครื่องมือดับเพลิง มีที่ทิ้งขยะมูลฝอย เป็นต้น
ขณะที่มี “พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ที่กำหนดว่าที่ดินนั้น มีเพื่อวัตถุประสงค์ใด และต้องถือตามที่จดทะเบียนไว้ เช่น ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ก็ต้องเป็นที่อยู่อาศัย จะดัดแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ไม่ว่าจะผ่านมากี่มือก็ตาม” ทั้งนี้มีกฎหมายมากพออยู่แล้วในการจัดการตลาด ในการดำเนินการ ซึ่งผู้ประกอบการหรือเจ้าหน้าที่ต้องศึกษากฎหมายหลายฉบับ ถ้าไม่ระวังอาจมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องในการดำเนินการได้ “ปัจจุบันมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตในปี 2558ใช้บังคับ ทำให้หลายหน่วยงาน จัดทำคู่มือประชาชนในการดำเนินการเรื่องต่างๆ โดยจะมีศูนย์รับคำขออนุญาตในลักษณะ “วัน สต็อป เซอร์วิส” ให้ผู้ประกอบการขออนุญาตทุกเรื่องในคราวเดียวกัน โดยกลไกดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และช่วยป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่ได้ในระดับหนึ่ง”
ทั้งนี้รศ.ดร.คณพล ให้คำแนะนำว่า หน่วยงานต่างๆ ควรเร่งทำคู่มือประชาชนที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ให้เสร็จโดยเร็ว และรัฐก็ควรทบทวนกฎหมายที่มีข้อยุ่งยากในการอนุญาตให้ง่ายขึ้น มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งขึ้น เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดความสมบูรณ์ ส่วนกรณีหากเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ประชาชนผู้เดือดร้อนก็มีสิทธิ์ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองได้ และต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามหน้าที่หรือไม่ ถ้าไม่ เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องรับผิดชอบและได้รับบทลงโทษทางวินัย หรืออาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ นอกจากนั้นผู้เสียหาย ยังสามารถแจ้งความดำเนินคดีแก่เจ้าของตลาดในฐานะจงใจหรือประมาทเลินเล่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่กระทำการนั้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในตลาด ก็ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว เรียกค่าสินไหมทดแทนได้