ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยผลการศึกษาว่า การควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบด้วยหลายระยะ โดยในระยะแรกจะเป็นการป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะจากภายนอกประเทศให้นานที่สุด (Control Phase) และเมื่อเริ่มมีการติดเชื้อในประเทศแล้วก็ต้องควบคุมและสอบสวนโรคในผู้สัมผัสเชื้อเพื่อตัดวงจรการระบาด (Delay Phase) ระยะต่อมาเมื่อมีการแพร่ของเชื้อในชุมชนในวงกว้างขึ้น ก็จะต้องชะลอไม่ให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อให้ระบบการแพทย์และโรงพยาบาลมีเพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วยได้ (Mitigation Phase ) ประเทศส่วนใหญ่มักเลือกใช้วิธีปิดประเทศ ปิดเมืองหรือล็อกดาวน์ ให้คนอยู่บ้าน เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (Social distancing) และงดกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้างสรรสินค้า บริษัท ห้างร้านต่างๆ ทำให้การระบาดช้าลง รุนแรงลดลง จนสามารถดูแลผู้ป่วยได้ มีผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง มีผู้เสียชีวิตลดลงในระดับที่ควบคุมได้ ซึ่งความรุนแรงและความรวดเร็วของการระบาดแตกต่างกันได้ในแต่ละประเทศ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะการฟื้นฟูสภาพ (Recovery Phase ) โดยจะเริ่มทะยอยผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลง เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมเริ่มกลับมาทำงาน ซึ่งระยะเวลาและรายละเอียดในการดำเนินการนั้นแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่มียารักษาไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงและยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด จึงยังต้องมีมาตรการควบคุมดูแลอีกต่อไปอีกเป็นเวลานาน เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้างระลอกใหม่อีก โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (Social distancing หรือ Physical distancing) รวมทั้งการตรวจคัดกรองและค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่โดยวิธีการต่างๆ
เหตุการณ์การระบาดในอู่ฮั่นซึ่งได้เกิดความสูญเสียอย่างมากนั้น ในปัจจุบันนี้สามารถควบคุมได้และทางการจีนได้เริ่มเปิดเมืองในสัปดาห์นี้หลังจากที่ปิดสนิทมาสองเดือนกว่า เป็นการสิ้นสุดการล็อกดาวน์นานถึง 76 วัน แต่หลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกายังเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายอยู่ ต้องปิดประเทศ ปิดเมือง คล้ายกับเหตุการณ์ที่จีน มาตรการล็อกดาวน์ที่นำมาใช้นี้ได้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้คนว่างงานและเสียรายได้ ระบบเศรษฐกิจของโลกและของประเทศถดถอยอย่างรุนแรงในทุกภูมิภาค ยิ่งต้องดำเนินการล็อกดาวน์เป็นเวลานานก็จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงขึ้นแต่ถ้าผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไปก็จะเกิดการกลับมาระบาดระลอกใหม่หรือมีความสูญเสียยาวนาน อย่างไรก็ตามนักวิจัยส่วนหนึ่งก็เริ่มเตรียมการวางแผนหาทางออกจากสถานการณ์นี้แล้ว
สำหรับประเทศอังกฤษ ศาสตราจารย์นายแพทย์ Karol Sikora อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโรคมะเร็งที่เคมบริดจ์ อดีตผู้บริหารขององค์การอนามัยโลกและที่ปรึกษาของรัฐบาลอังกฤษ ให้ความเห็นว่า ถึงแม้ในขณะนี้อังกฤษกำลังเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากนั้น แต่ในที่สุดแล้วก็จำเป็นต้องวางแผนที่จะกลับมาสู่สภาวะที่เศรษฐกิจและสังคมจะต้องดำเนินต่อไป
อังกฤษและสหราชอาณาจักร ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ซึ่งได้ดูแลอย่างเข้มงวดมาก แต่จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้เวลา 2-4 สัปดาห์กว่าที่มาตรการนี้จะเริ่มเห็นผล โดยรัฐบาลได้กำหนดว่าจะประเมินผลการดำเนินงาน 3 สัปดาห์หลังที่เริ่มใช้มาตรการเข้มงวด ทั้งนี้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ใช้คำนวณการระบาดได้บ่งว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในอังกฤษจะเริ่มคงที่และช้าลง โดยโรงพยาบาลต่างๆจะรับภาระหนักมากในช่วง 7-10 วันข้างหน้า จากนั้นจะเริ่มทรงตัวและลดความรุนแรงลง นักวิชาการส่วนใหญ่ประเมินว่าคงจะต้องใช้มาตรการเข้มงวดนี้ต่อไปอย่างน้อยถึงเดือนพฤษภาคม โดยการผ่อนคลายมาตรการต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ละขั้นอาจต้องติดตามนาน 2-3 สัปดาห์จึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง แล้วจึงผ่อนคลายมาตรการขั้นต่อไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Karol Sikora ได้เสนอแผนการ 4 ขั้นในการทะยอยปลดสภาพล็อกดาวน์ โดยเสนอช่วงเวลา ดังนี้
-27 เมษายน เริ่มเปิดร้านค้าขนาดเล็ก และกิจการขนาดเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน ให้คนหนุ่มสาวเริ่มออกจากบ้าน แต่ต้องดูแลผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงอย่างเข้มงวดมากอย่างน้อยจนถึงเดือนมิถุนายน
-4 พฤษภาคม เริ่มเปิดโรงเรียน ให้เด็กนักเรียนกลับมาเรียนหนังสือ
-18 พฤษภาคม เปิดกิจการและธุรกิจส่วนที่เหลือ เปิดร้านอาหาร ผับ ระบบขนส่งมวลชน เปิดมหาวิทยาลัย
-1 มิถุนายน เปิดสนามบินและให้มีการเดินทางระหว่างประเทศ กลับสู่สภาพปกติ
โดยเสนอว่าต้องติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา รวมทั้งเร่งตรวจหาการติดเชื้อและตรวจทางภูมิคุ้มกันให้ทราบว่าใครติดเชื้อบ้างและใครมีภูมิคุ้มกันแล้ว
ทั้งนี้นักวิชาการจำนวนมาก ให้ความเห็นว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะกำหนดเวลาในการทะยอยผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เหล่านี้ลง รวมทั้งร่างกำหนดเวลาการผ่อนคลายมาตรการตามที่เสนอนี้อาจจะเร็วเกินไปซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ได้
คงต้องรอดูต่อไปว่าแผนและกำหนดการนี้จะเป็นจริงหรือไม่
แหล่งข้อมูล: @ProfKarolSikora on Twitter (April 8, 2020)
วิเคราะห์และประมวลข้อมูลโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.)
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน