กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท
ในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.00-30.30 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดทรงตัวที่ 30.15 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทเข้าทดสอบระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีครึ่งอีกครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้น 1.2 พันล้านบาทแต่ซื้อพันธบัตร 1.6 พันล้านบาท ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยหลายช่วงอายุแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ทั้งนี้ ในปี 2562 เงินบาทแข็งค่าสุดในกลุ่มสกุลเงินเอเชียด้วยการปรับขึ้นมากกว่า 8% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 4.5 หมื่นล้านบาท และ 7.9 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ระยะ 2 ปี ลดลง 62 bps และ 10 ปี ร่วงลง 102 bps ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินปอนด์หลังข้อมูลเศรษฐกิจของยุโรปและอังกฤษบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวช้า ขณะที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง โดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดสำคัญหลายแห่งปรับลดลง
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขภาคบริการและการจ้างงานของสหรัฐฯ เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยในระยะถัดไป อีกทั้งนักลงทุนยังคงรอความชัดเจนการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาราคาน้ำมันและทองคำท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลางซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ในอิรัก โดยอิหร่านประกาศจะแก้แค้นให้กับผู้บัญชากองกำลังของอิหร่านซึ่งถูกลอบสังหารในเหตุการณ์ดังกล่าว เราคาดว่าการประเดิมปีชวดด้วยความเสี่ยงด้านรัฐภูมิศาสตร์จะทำให้เงินเยนได้แรงหนุน ขณะที่นักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของตลาดหลักปรับตัวลดลง การพุ่งขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกอาจกระตุ้นการส่งออกทองคำของกลุ่มผู้ค้าทองในประเทศ ซึ่งอาจจำกัดการอ่อนค่าของเงินบาท
สำหรับปัจจัยในประเทศ รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ระบุว่ากนง.กังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แม้ระยะหลังเงินบาทเคลื่อนไหวสองทางมากขึ้น ด้านกระทรวงการคลังกล่าวว่ายังมีทั้งเครื่องมือทางการเงินและการคลังที่สามารถจะดำเนินการได้แต่ในปัจจุบันยังไม่มีแนวคิดเรื่องมาตรการภาษีเพื่อดูแลค่าเงินบาท อนึ่ง เรามองว่าสภาพคล่องการซื้อขายที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังรอยต่อช่วงปีใหม่ทำให้เงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูงและจะชี้นำตลาดเกิดใหม่รวมถึงสินทรัพย์สกุลเงินบาทต่อไป