รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในผู้ที่เคยขึ้นปราศรัยบนเวทีกปปส. กล่าวถึงกรณี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าว พร้อมลาออกถ้า ประชาชนไม่ต้องการ และกรณีเว็บไซต์ และสื่อสำนักต่างๆ จัดทำโพลถามความเห็นประชาชนว่าต้องการให้พลเอกประวิตร อยู่ต่อหรือลาออก รศ.ดร.จักษ์กล่าวว่า ตนขอพูดด้วยเหตุผลและไม่มีอคติ หนึ่ง การทำโพลทางอินเตอร์เน็ท มันสะท้อนความคิดของคนทั้งประเทศไม่ได้ สอง คนที่อยู่ในกลุ่มก้อนที่เข้าไปดูในแต่ละเว็บไซต์ ล้วนแล้วแต่มีสังกัด อย่างเช่นคนกลุ่มนี้ก็มักจะดูของเว็บไซต์กลุ่มของตน ฉนั้นผลลัพธ์ก็จะไม่ค่อยส่งผล เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์ต่างๆ
รศ.ดร.จักษ์ กล่าวต่อไปว่า ในประเด็นที่คะแนนออกมาเช่นนี้ การถามว่าอยากให้อยู่หรืออยากให้ไป กับคำว่าถูกหรือผิด ต้องแยกออกเป็นสองกรณี สิ่งที่โพลทำ ถามความรู้สึกคนไทย ว่าอยากให้อยู่ หรืออยากให้ลาออก คำถามไม่ได้ถามว่าพลเอกประวิตร ทำผิดหรือทำถูก มันคนละประเด็น เพราะต่อให้ท่านถูก ผลออกมาจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ไม่สามารถตอบได้ ถ้าท่านผิดก็ตอบอะไรไม่ได้เช่นกัน เพราะฉนั้น มันเป็นแค่ความรู้สึก บอกได้แต่ความรู้สึก เพราะคนที่มาลงคะแนน ติดตามข่าวลึกซึ้งแค่ไหน ไม่มีใครรู้ หรือเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนก็ไม่รู้ มันก็บอกได้แค่ว่า รู้สึกอย่างไร คำว่าถูกหรือผิดมันขึ้นอยู่กับกระบวนการตามกฏหมาย เพราะกฏหมายจะเป็นตัวบอกว่าอะไรถูกหรือผิด ฉนั้นสองอย่างต้องแยกออกจากกัน
รศ.ดร.จักษ์ กล่าวด้วยว่า ในอีกกรณีที่น่าสนใจ คือการที่พลเอกประวิตรบอกไว้ตอนแรกว่า ก็ให้ทาง ป.ป.ช. ตัดสิน ถ้าท่านผิด ท่านก็ลาออก ซึ่งพูดอยู่บนพื้นฐานของคำว่าถูกหรือผิด แต่ครั้งนี้ท่านพูดอยู่บนพื้นฐานของคำว่า อยากให้ไปก็ไป ถึงต้องแยกการพูดของพลเอกประวิตร ออกเป็นสองตอน ตอนแรกพูดเรื่องของความถูกผิดบนพื้นฐานของกฏหมาย นิติธรรม นิติรัฐ แต่ตอนที่สองพูดถึงความรู้สึก เมื่อถูกถามว่าจากการที่ผลโพลต่างๆ แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ อยากให้พลเอกประวิตร ลาออก ตัวพลเอกประวิตรเองควรตัดสินใจอย่างไร พลเอกประวิตรต้องแยกว่าสิ่งที่ทำดี ไม่ใช่ว่าคนไม่เห็น ท่านทำดีมาเยอะแยะ แต่ในส่วนของเรื่องนาฬึกา ก็มีคนเห็นและคิดอีกแบบ เพราะฉนั้นการที่เข้ามาชั่งน้ำหนักแล้ว ตาชั่งของใครของมัน พลเอกประวิตรต้องใจกว้าง การที่มาโหวตบอกให้ลาออก สุดท้ายพลเอกประวิตร ต้องตัดสินใจเอง ดูว่ามีภาระหน้าที่มากกว่าหรือไม่
“ถ้ามีภาระหน้าที่ ที่ต้องดูแลประเทศชาติ ซึ่งถ้าขาดตนไปแล้วจะมีปัญหา ท่านก็ต้องเดินต่อไป ในเชิงรัฐศาสตร์ ถ้าเป็นผู้นำต้องยอม” รศ.ดร.จักษ์กล่าว