หน้าแรกการเมืองมีเถยจิตเป็นโจร! 'พีระพันธุ์' ลั่น หมดเวลาเกรงใจ‘ทูตฝรั่ง’

มีเถยจิตเป็นโจร! ‘พีระพันธุ์’ ลั่น หมดเวลาเกรงใจ‘ทูตฝรั่ง’

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรมว.ยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ “ถึงเวลาร่วมใจผนึกกำลังสู้เพื่อชาติของเรา” มีเนื้อหาดังนี้

“ถึงเวลาร่วมใจผนึกกำลังสู้เพื่อชาติของเรา”

“ผมตั้งใจว่าจะไม่เขียนถึงกรณีที่ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในด้านกระบวนการยุติธรรมของเราอีก และในช่วงสงกรานต์ผมลงพื้นที่พบประชาชนจำนวนมาก ปรากฎว่ามีคนสนใจสอบถามผมเยอะมาก เกี่ยวกับการตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนากับพวกเมาแล้วขับ ว่าทำได้หรือไม่เพียงใด เพราะอยากให้ทำได้จริงๆ ผมจึงคิดว่าจะเขียนอธิบายเรื่องเมาแล้วครับเผื่อจะเป็นประโยชน์บ้าง แต่หลังจากที่ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับแถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงซึ่งเป็นต้นสังกัดของคนต่างชาติพวกนี้ หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศเรียกไปเข้าพบแล้ว ต้องบอกว่าทนไม่ได้ครับ”

“ผมเคยคิดว่าเมื่อคนพวกนี้รับรู้ถึงกระแสความไม่พอใจของสังคมไทย และได้รับการตอบโต้จากกระทรวงการต่างประเทศ พวกเขาคงจะหาทางบรรเทาสถานการณ์ลงบ้าง เช่น ขอโทษ หรือแจ้งว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ตรงกันข้ามนอกจากจะไม่สำนึก ยังกลับเหิมเกริมยิ่งขึ้นโดยการออกแถลงการณ์อย่างไม่แยแสสังคมไทยและเกียรติยศศักดิ์ศรีของประเทศไทย ยืนยันว่าสิ่งที่พวกตนทำไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นแนวปฏิบัติปกติทางการทูต เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศโต้โผใหญ่ของคนพวกนี้แถลงว่าการส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมฟังการพิจารณาคดีที่ได้รับความสนใจอย่างสูงทั่วโลก เป็นการกระทำเพื่อรับประกันว่าการดำเนินคดีจะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมและมีการเคารพหลักกฎหมาย ในคดีที่เป็นปัญหาอยู่นี้ก็เช่นเดียวกันกับอีกหลายๆคดี ที่เขาเข้าไปสังเกตุการณ์ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ได้ข้อมูลปฐมภูมิในการดำเนินคดี”

“พร้อมกันนั้นผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยก็ออกแถลงการณ์ว่าการกระทำของพวกตนเป็นการดำเนินการตามหลักปฏิบัติปกติทางการทูตที่ทำกันทั่วโลก ไม่เป็นการแทรกแซงทางการเมืองและไม่เป็นการสนับสนุนใครคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ”

“นี่เป็นแถลงการณ์ภายหลังจากที่เข้าพบกับกระทรวงการต่างประเทศและรับ “บันทึกช่วยจำ” ไปแล้วด้วยนะครับ”

“แต่จากสิ่งที่เราเห็น ปรากฎชัดว่า สิ่งที่คนพวกนี้ทำไปนั้นมันสวนทางกับแถลงการณ์ของต้นสังกัดของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง และน่าสังเกตุเพิ่มเติมว่าผู้ที่ออกมาแถลงการณ์ตอบโต้กระทรวงการต่างประเทศนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ทูตระดับสูง จึงเป็นที่น่าคิดว่าการกระทำของคนพวกนี้อยู่ในการรับรู้ของต้นสังกัดมาแต่เริ่ม ซึ่งก็หมายถึงการรับรู้ของรัฐบาลของประเทศต้นสังกัดด้วย”

“นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนพวกนี้มีความฮึกเหิม ไม่สนใจและไม่ยี่หระต่อความไม่พอใจและคำเตือนของกระทรวงการต่างประเทศ ไม่เคารพวิธีปฏิบัติและพันธกรณีการปฏิบัติทางการทูตกับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีเอกราชและอธิปไตยมาช้านาน รวมทั้งไม่หวั่นเกรงต่อผลกระทบทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศไทย”

“มีคนพูดว่าเราต้องนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผมเห็นด้วยล้านเปอร์เซ็นต์ แต่ผมสงสัยและแปลกใจว่าทำไมเราต้องวิตกกังวลถึงเรื่องนี้แต่ฝ่ายเดียว ในขณะที่อีกฝ่ายไม่นึกไม่คิดถึงบ้าง หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ ในเมื่อคนพวกนี้ไม่มีมรรยาททางการทูต ไม่เคารพเอกราชและอธิปไตยไทย กล้าที่จะเหยียบย้ำศักดิ์ศรีของชาติถึงในบ้านของเรา เราก็ไม่ต้องเกรงใจพวกนี้อีกต่อไปแล้ว”

“เมื่อมีข่าวเพิ่มเติมว่า‪ในวันที่ 17 เมษายน ที่นายปิยบุตรจะไปพบพนักงานสอบสวนนั้น บรรดาคนต่างชาติพวกนี้ก็คงจะอาศัยอ้างความเป็นเจ้าหน้าที่ทูตไปจุ้นจ้านที่สถานีตำรวจอีก หากเป็นเช่นนั้นจริงก็เท่ากับเป็นการไม่ไว้หน้าทั้งกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่เคารพหลักปฎิบัติ กฎข้อบังคับ และประเพณีทางการทูตอย่างร้ายแรงมากยิ่งขึ้น อันเป็นการผิดปกติวิสัยของผู้ทำหน้าที่ทูตจะพึงปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง”

“ทำให้น่าสงสัยในความบริสุทธิ์ของเจตนาที่แท้จริงของคนพวกนี้เป็นยิ่งนัก ว่ามีลักษณะตามที่คำในภาษากฎหมายที่ว่า “มีเถยจิตเป็นโจร” หรือไม่”

“ต้องขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศที่อย่างน้อยก็มีการตอบโต้คนพวกนี้ไป แม้การตอบโต้จะเป็นเพียงการเรียกต้นสังกัดของคนกลุ่มนี้มารับทราบ “บันทึกช่วยจำ” แต่ก็นับว่าเป็นบันทึกช่วยจำที่มีเนื้อหาชัดเจนและรุนแรงมากสำหรับการตอบโต้กับประเทศระดับยักษ์ใหญ่เช่นนี้”

“แต่ในเมื่อคนพวกนี้ไม่หลาบจำและกลับมีความฮึกเหิมมากขึ้น ผมจึงขอพูดดังๆ เสนอไปยังกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รีบดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน”

“1) ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการไปยังผู้กำกับสถานีตำรวจและพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องทันทีเพื่อให้ทันเวลาว่าห้ามมิให้คนพวกนี้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการสอบสวนจนกว่าจะได้รับแจ้งการประสานงานจากกระทรวงการต่างประเทศ

2) ให้สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงยุติธรรมก็สุดแล้วแต่ เป็นเจ้าของเรื่อง เสนอเรื่องต่อ ครม. เป็นเรื่องด่วน ในการประชุม ครม. ครั้งหน้านี้ ให้ ครม. มีมติห้ามมิให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐอนุญาตหรือยินยอมให้พวกต่างชาติ เข้ามาดำเนินการใดๆในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้รับความเห็นชอบของกระทรวงต่างประเทศก่อน เว้นแต่ในคดีที่คนของประเทศเหล่านั้นเป็นผู้ถูกกล่าวหา และให้สำนักนายกรัฐมนตรีไปยกร่างออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการนี้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติและเป็นเกราะกำบังให้เจ้าหน้าที่ของรัฐถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป”

“จริงอยู่แม้การสอบสวนตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาจะเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนกับผู้ถูกกล่าวหาและทนายความ ซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจที่จะไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้ามายุ่งวุ่นวายในคดีได้อยู่แล้วก็ตาม แต่เพื่อให้เกิดความอุ่นใจและเป็นเกราะกำบังให้พนักงานสอบสวนและผู้เกี่ยวข้อง จึงควรต้องดำเนินการดังที่ผมเสนอมาข้างบนนี้ด้วย และยังจะทำให้มีกฎระเบียบภายในประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะที่คนพวกนี้ต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 ข้อ 41 ด้วย”

“นอกจากเรื่องนี้แล้ว ผมขอจับโกหกจากการแถลงการณ์ตอบโต้กระทรวงการต่างประเทศของขบวนการต่างชาติกลุ่มนี้ ดังนี้ครับ

1) คนพวกนี้บอกในแถลงการณ์ว่าพวกเขามีสิทธิกระทำการเช่นนี้ได้ ไม่เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของเรา ซึ่งพวกเขาจะกระทำการแบบนี้เป็นปกติในทุกคดีที่ได้รับความสนใจอย่างสูงทั่วโลก ไม่เป็นการแทรกแซงทางการเมือง และไม่เป็นการสนับสนุนใครคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ เป็นหลักปฏิบัติปกติทางการทูตที่ทำกันทั่วโลก

เอาง่ายๆ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดจึงไม่เห็นเคยมีเจ้าหน้าที่ทูตจากประเทศอื่นๆ ในประเทศไทย ปฏิบัติตนเช่นเดียวกันกับกลุ่มคนพวกนี้

เหตุใดในคดีอื่นๆที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับคดีของนายธนาธรและนายปิยบุตรนี้ คนพวกนี้จึงไม่เคยปรากฎตัวเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมาขอสังเกคุการณ์บ้าง

2) หากเป็นการปฏิบัติตามปกติประเพณีทางการทูตจริงแล้ว ในระหว่างคดีของนายธนาธรกับนายปิยะบุตรนี้กับคดีการจับกุมและควบคุมตัวบุตรสาวของประธานบริษัทหัวเหว่ยนั้น คดีใดเป็นคดีที่ได้รับความสนใจอย่างสูงในสังคมทั่วโลกมากกว่ากัน เหตุใดจึงไม่ปรากฎมีนักการทูตหรือเจ้าหน้าที่ทูตของประเทศของคนพวกนี้โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปไปสังเกตุการณ์การจับกุม การควบคุมตัว และการสอบสวนเลย

3) นายธนาธรสามารถแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน สามารถมีผู้ให้การสนับสนุนมาให้กำลังใจ สามารถมีคณะเจ้าหน้าที่ทางการทูตมา “ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติประเพณีทางการทูต” และนายธนาธรสามารถเดินทางกลับบ้านได้ทันทีหลังพบพนักงานสอบสวน เปรียบเทียบกับคดีระดับโลกกรณีของบุตรสาวประธานบริษัทหัวเหว่ยนั้น เธอไม่สามารถกลับบ้านได้และยังคงถูกกักขังและควบคุมตัวอยู่จนปัจจุบัน เธอต้องต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองในการถูกควบคุมตัวและการถูกปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย เช่นนี้แล้ว คดีใดมีลักษณะเป็นการละเมิดเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนมากกว่ากัน เหตุใดคนพวกนี้จึงวางเฉย ไม่เคยตรวจสอบ ไม่เคยไปสังเกตุการณ์ ไม่สนใจ และปล่อยให้เธอต้องต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพื่อสิทธิมนุษยชน และเพื่อการปฎิบัติที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมนั้นแต่เพียงลำพัง

4) คนพวกนี้บอกว่า การกระทำของพวกเขาไม่เป็นการแทรกแซงทางการเมือง แต่ในวันที่คนพวกนี้ไป “สังเกตุการณ์” เมื่อวันที่ 6 เมษายน นั้น ปรากฎมีประชาชนและสมาชิกพรรคการเมืองนั้นไปให้สนับสนุนแห่แหนและให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก เหตุใด คนพวกนี้จึงไม่มีความรู้สึกนึกคิดพื้นฐานตามปกติวิสัยของ “นักการทูต” ทีดีทีพึงกระทำเลยสักนิดหรือว่าการพาตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนทางการเมืองเช่นนั้น เป็นการล่อแหลมต่อการที่จะถูกมองว่ามาร่วมให้การสนับสนุนทางการเมืองหรือไม่มีความเป็นกลางได้ หากคนพวกนี้มีจิตใจและเจตนาที่บริสุทธิ์เพียงแค่ต้องการมาสังเกตุการณ์เพื่อรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินคดีจริงๆแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเร่งรีบดำเนินการต่อไปในสถานการณ์ที่ล่อแหลมเช่นนั้น คนพวกนี้สามารถติดต่อขอข้อมูลรายละเอียดที่ต้องการได้ในหลายช่องทาง ยกเว้นจงใจแสดงการเลือกข้างให้ปรากฏ

5) คนพวกนี้บอกว่า การกระทำของพวกเขาไม่เป็นการสนับสนุนใครคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่กลับไม่เคยเห็นคนพวกนี้ยืนยิ้มเรียงแถวหน้ากระดานล้อมรอบถ่ายรูปร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาในคดีอื่นๆ ท่าทีดูแล้วเหมือนเป็นผู้มาให้กำลังใจมากกว่ามาเป็นผู้สังเกตการณ์

สรุปได้ว่าสิ่งที่คนพวกนี้กระทำไปนั้นมันสวนทางกับสิ่งที่พวกเขาแถลงอย่างสิ้นเชิง นอกจากนั้น และหากคนพวกนี้ยังคงเหิมเกริม มาจุ้นจ้านในกรณีของนายปิยบุตรอีก ก็ย่อมเป็นการย้ำสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศระบุไว้ใน “บันทึกช่วยจำ” ว่า

“……การปรากฎตัวของตัวแทนทูตอย่างชัดเจนต่อสาธารณะที่สถานีตำรวจแบบนั้น ส่งผลทางการเมืองอย่างชัดเจนต่อสาธารณชนคนไทยในวงกว้างว่า เป็นการสนับสนุน “นายธนาธร” ในเชิงจริยธรรม กล่าวอีกอย่างได้ว่า มันเป็นพฤติกรรมและการบ่งบอกทางการเมืองของทูตเหล่านั้น มันส่งผลอย่างชัดเจนว่า ทูตเหล่านี้ เลือกที่จะลงมาเล่นการเมืองในประเทศไทย อย่างน้อยที่สุดก็ได้ “เลือกข้าง” ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของการเมืองในประเทศแล้ว รัฐบาลไทยเห็นว่า พฤติกรรมดังกล่าว เป็นการละเมิดข้อตกลงแห่งเวียนนาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการทูต (VCDR) มาตรา 41 และละเมิดหลักการสากล ว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติที่มีอธิปไตย จากประสบการณ์ เราไม่เคยเห็นพฤติกรรมของกลุ่มนักการทูตเยี่ยงนี้ในที่ใดมาก่อน….” (คัดลอกคำแปลต้นฉบับภาษาอังกฤษจากบทความ “ตี๋กร่าง” กับ “บันทึกช่วยจำ” โดย เปลว สีเงิน หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ 15 เมษายน 2562)”

“ชัดเจนจากข้อความใน “บันทึกช่วยจำ” ของกระทรวงต่างประเทศครับว่า “ทูตเหล่านี้ เลือกที่จะลงมาเล่นการเมืองในประเทศไทย อย่างน้อยที่สุดก็ได้ “เลือกข้าง” ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของการเมืองในประเทศแล้ว พวกเขากำลังคิดจะทำอะไรกับราชอาณาจักรไทยของเรา ทำไปเพื่ออะไร และทำไปเพื่อใคร???”

“กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา!!!”

“มากระจ่างชัดมากขึ้นเมื่อได้อ่านข้อเขียนของคุณเปลว สีเงิน ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันอังคารที่ 16 เมษายน นี้ ในหัวข้อ “สื่อฝรั่ง “ถลกลาย” ฝรั่งเสือก” ที่นาย Tony Cartalucci ที่เป็นชาวต่างชาติเช่นกันแต่ได้เขียนบทความตีแผ่พฤติกรรมฝรั่งพวกนี้ในนิตยสาร “New Eastern Outlook” เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2562 นี้ ว่าคนพวกนี้มีเจตนาแอบแฝงอย่างไร มี “เถยจิตเป็นโจร” หรือไม่ ใครอยากทราบรายละเอียดไปหาอ่านดูนะครับเพราะเท่าที่ผมเขียนมานี้ก็ยาวพอแล้วครับ”

นี่ขนาดฝรั่งกันเองยังมองออก เรา..คนไทย..จะต้องมองให้ออกเช่นกัน

เราต้องคิดและเตรียมการรับมือให้ดี!!!

ถึงเวลาร่วมใจผนึกกำลังสู้เพื่อชาติของเรา …

โพสต์โดย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เมื่อ วันอังคารที่ 16 เมษายน 2019


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img