ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เสิร์ฟงานหัตถศิลป์ร่วมสมัย ตอบโจทย์ โดนใจ ในงาน Crafts Bangkok 2019 ชูแนวคิด “Retell the Details : เล่าเรื่องของเรื่องเล่า” นำเสนอการเล่าเรื่องงานหัตถศิลป์ยุค 4.0 ที่มีการต่อยอดด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ รวบรวมงานคราฟต์ที่หลากหลายและยิ่งใหญ่ที่สุด พร้อมปั้นผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์รุ่นใหม่ตอบโจทย์ตลาดยุคดิจิทัล พบกัน 4–7 เมษายน 2562 นี้ ที่ไบเทค บางนา
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ศิลปหัตถกรรมในประเทศไทยมีพัฒนาการต่อเนื่องมายาวนาน จากเดิมเป็นงานเชิงช่างชั้นสูงสำหรับเฉพาะกลุ่ม แต่ปัจจุบัน SACICT ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ภูมิปัญญางานหัตถศิลป์ไปสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป ภายใต้กลยุทธ์ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” หรือ “Today Life’s Crafts”
ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าความงดงามของศิลปหัตถกรรมไทยประยุกต์ใช้อย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นมุมมองใหม่ว่างานหัตถศิลป์ไทยได้ปรับตัวไปตามยุคสมัยและกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป คราฟต์ยุคใหม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คน และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสภาพเศรษฐกิจ (Craft Economy) ของประเทศ ผ่านการพัฒนาทั้งองค์ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาตลาด สามารถสร้างโอกาสและรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดียิ่งขึ้น
จากแนวคิด“หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” SACICT ได้จัดงาน Crafts Bangkok ขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปีนี้เป็นปีที่ 2 โดย Crafts Bangkok 2019 จัดขึ้นในแนวคิด “Retell the Details : เล่าเรื่องของเรื่องเล่า” บอกเล่าเรื่องราวงานศิลปหัตถกรรมที่นำมาต่อยอดด้วยนวัตกรรมผสมผสานเทคนิคความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ในทุกมิติการใช้ชีวิตของผู้คนยุคปัจจุบัน
โดยการเล่าเรื่องมีความสำคัญอย่างยิ่งกับงานประเภทศิลปหัตถกรรม เนื่องด้วยมีประวัติความเป็นมาองค์ความรู้สืบทอดมาอย่างยาวนาน มีการนำนวัตกรรมประยุกต์เข้ากับงานศิลปหัตถกรรม หรือผสมผสานงานหัตถศิลป์หลากหลายประเภทไว้ด้วยกันอย่างลงตัวและแตกต่าง
เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีลวดลายดีไซน์ที่ดึงดูดใจและมีการใช้งานที่กว้างขวางมากขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์แห่งความประณีตงดงามในแบบฉบับคุณค่างานหัตถศิลป์ไทย ดังนั้นการนำเรื่องราวดั้งเดิมเหล่านั้นมาเล่าใหม่ ในมิติที่แตกต่างออกไปให้สอดคล้องกับค่านิยมปัจจุบันและเทรนด์ยุคใหม่ จึงเป็นการช่วยตอกยํ้าคุณค่าของผลิตภัณฑ์ รายละเอียด และขั้นตอนต่างๆ ที่น่าสนใจ สร้างความประทับใจความภาคภูมิใจให้แก่ผู้บริโภค
Crafts Bangkok 2019 จึงเป็นงานที่คนรักงานคราฟต์ต้องไม่พลาด รวมทั้งประชาชนคนไทยจะได้เห็นความน่าสนใจของชิ้นงานหัตถศิลป์ที่แตกต่างไปจากที่คุ้นเคย ได้รวบรวมทุกเรื่องของงานคราฟต์ในทุกมิติมาไว้ในงานเดียว เพลิดเพลินไปกับผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และสมาชิกของ SACICT
ผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่ และหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศมาแสดงและจัดจำหน่ายภายในงาน กว่า 350 คูหา มากกว่า 3 หมื่นชิ้น พร้อมกิจกรรมสนุก ๆ เกี่ยวกับงานคราฟต์ที่จะจุดประกายไอเดียและสร้างแรงบันดาลใจ ได้พบปะพูดคุยในกลุ่มคนรักงานคราฟต์ที่เป็นสีสันและแบ่งปันความสุขแก่กัน เทรนด์คราฟต์ของโลกที่จะเป็นข้อมูลและแนวทางให้ผู้ประกอบการงานคราฟต์ได้ตั้งรับและนำไปพัฒนาตนเอง ตลอดจนการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เป็นไปได้บนความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์
ภายในงานมีจัดแบ่งโซนกิจกรรมที่มีความน่าสนใจมากมาย ประกอบด้วย
โซน “Story telling” เป็นโซนที่เป็นการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ที่ยังคงคุณค่าความประณีตจากภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่เพิ่มเติมแนวคิดนวัตกรรมร่วมสมัย นำเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาต่อยอด เกิดการเล่าเรื่องในมิติที่แตกต่างและน่าสนใจไปจากเดิม
โซน “Nowadays” เป็นการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาชิกของ SACICT ที่เน้นในดีไซน์ การออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก เช่นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเป็นงานคราฟต์ที่สร้างสรรค์และสนับสนุนสังคม
โซน “Royal Project” ซึ่งเป็นการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในโครงการพระราชดำริ จาก 4 หน่วยงานคือ โครงการเซรามิค สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์,มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รัชกาลที่ 9,โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
โซน “New details” จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสถาบันการศึกษาจำนวน 10 สถาบันที่เป็นพันธมิตรของ SACICT ซึ่งล้วนมาจากพลังของคนรุ่นใหม่ที่มีต่องานคราฟต์ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,มหาวิทยาลัยรังสิต,มหาวิทยาลัยบูรพา,สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง,มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
โซน “International Crafts” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานคราฟต์จากต่างแดน โดยจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของหน่วยงานพันธมิตรในต่างประเทศที่มีความร่วมมือกับ SACICT ทั้งจากผู้ประกอบการกว่า 20 ราย
จาก 11 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา,ลาว,เวียดนาม,มาเลเซีย,เวียดนาม,ไต้หวัน,อินเดีย,คาซัคสถาน,อินโดนิเซีย,เมียนม่า และบังกลาเทศ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศอย่าง World Crafts Council ซึ่งพันธมิตรเหล่านี้ยังจะมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองด้านงานคราฟต์แก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย เช่น Korean Craft and Design Foundation-Foundation (KCDF) สาธารณรัฐเกาหลี,National Taiwan Crafts and Research Institute (NTCRI) ไต้หวัน และ Agency for Promotion of Indigenous Crafts (APIC) ประเทศภูฏาน
โซน Craft Tales ติดอาวุธการตลาดด้วยตัวอย่างการสร้างแบรนด์ของ 11 ผู้ประกอบการงานคราฟต์ ที่ SACICT ผลักดันให้กลุ่ม Start Up พัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงเครือข่ายและ Value Chain สร้างกระบวนการคิดในการสร้างแบรนด์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เสริมความแข็งแกร่งให้แก่หัตถศิลป์ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งยังเป็นผู้ประกอบการต้นแบบในการพัฒนาและขยายสู่สมาชิกของ SACICT ต่อไป
โซนสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใน 3 กิจกรรมคือ กิจกรรม Make: เวิร์คชอปที่คนรักคราฟต์สามารถลงมือทำ DIY งานคราฟต์เก๋ๆด้วยตนเอง , กิจกรรม Meet : ผู้ที่กำลังอยากได้คำแนะนำดี ๆ จาก Craft Guru ที่จะมา Coaching แนวคิดใหม่ๆและโอกาสที่เป็นไปได้ในโลกธุรกิจ และ กิจกรรม Talk : ร่วมฟังการเสวนาจากสารพัดกูรูในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการออกแบบ การตลาด และไลฟ์สไตล์ ที่หมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันมาให้ไอเดียและตอบในทุกข้อสงสัยของงานคราฟต์
Crafts Bangkok 2019 ครั้งนี้จึงเป็นงานคราฟต์ที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดของประเทศ โดย SACICT มุ่งหวังว่าจะเป็นงานสำคัญที่แสดงศักยภาพด้านงานหัตถศิลป์ของไทยให้คนไทยได้เห็นและเป็นที่ประจักษ์ว่า งานหัตถศิลป์ยุคใหม่ของไทยมีการพัฒนาและเติบโตอย่างก้าวกระโดด ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มีขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก
พร้อมยกระดับศักยภาพผู้สร้างสรรค์งานคราฟต์ ทั้งกลุ่มครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าให้ชิ้นงาน ตลอดจนเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ขยายกลุ่มผู้บริโภคงานหัตถศิลป์ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากคนรักงานคราฟต์เป็นอย่างดี โดยหวังว่าจะมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 20,000 ราย และยอดจำหน่ายตั้งเป้าหมายไว้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
เชิญชวนร่วมงาน Crafts Bangkok 2019 ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2562 เวลา 10.00–20.00 น. ณ ฮอลล์ EH 101-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ www.facebook.com/sacict หรือ Call Center 1289