พี่น้อง ‘อิน-เอมBelow the Tides’ ระดมทุนช่วยป้องกัน ‘พะยูน’ สูญพันธุ์

334

พี่น้อง ‘อิน-เอมBelow the Tides’ ระดมทุนช่วยป้องกัน ‘พะยูน’ สูญพันธุ์

สองพี่น้องอิน-เอม หัวใจนักอนุรักษ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “Below the Tides” ผุดโครงการ “Long Live Dugongs: อยู่ยงคงพะยูน” ระดมทุนช่วย พะยูน ลดความเสียงสูญพันธุ์

จากวิกฤต พะยูน ในพื้นที่ภาคใต้ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ ที่อาจทำให้เสี่ยงสูญพันธุ์ ทำให้ นายอริณชย์ ทองแตง หรืออิน อายุ 17 ปี และ น.ส.อริสา ทองแตง หรือเอม อายุ 15 ปี สองพี่น้องหัวใจนักอนุรักษ์ ผู้ก่อตั้ง กลุ่ม “Below the Tides” อยู่เฉยไม่ไหว

โดยสองพี่น้อง อิน เอม เปิดเผยว่า พะยูนหรือ “วัวทะเล” จัดอันดับเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การตกปลาเชิงพาณิชย์ การล่าสัตว์ การทำลายแหล่งหญ้าทะเล และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สัตว์ทะเลนี้มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศชายฝั่งและเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของท้องทะเลโดยรวม

พี่น้องอิน-เอม เผยอีกว่า ภายหลังที่เคยมาดูลูกพะยูนที่พลัดหลงจากแม่ ผลัดเกยตื้นมาที่บริเวณเกาะปอดะ ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ที่ถูกนำมาพักฟื้นที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ทางกลุ่มก็ได้ช่วยเหลือไปบางส่วน แต่ต่อมาก็ทราบข่าวว่าน้องพะยูน ก็ตาย หลังรักษาและอนุบาล 18 วัน จึงเริ่มสนใจ และศึกษาถึงปัญหามากขึ้น กระทั่งมาพบว่า ทุ่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของพะยูนหดหายไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เมื่อทุ่งหญ้าทะเลเหล่านี้หายไป พะยูนต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการขาดอาหารและถูกบังคับให้ย้ายถิ่นไปหาที่ๆอุดมสมบูรณ์มากกว่า แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก การสูญหายไปของหญ้าทะเลจึงเป็นผลกระทบในวงกว้าง ทำให้อัตราเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพวกมันรุนแรงและเร่งเร็วขึ้นทำให้จะเห็นได้ว่าจะมีข่าวพะยูนตายอย่างต่อเนื่อง

อิน-เอม กล่าวว่า กระทั่งมาพบว่า ที่ ศูนย์วิจัยทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนบน ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต มีความพยายามในการฟื้นฟูหญ้าทะเลจากเทคนิคที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีโดรน ด้วยกลยุทธ์หลัก 2 ประการ คือ 1) การฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของพวกมัน และ 2) การทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมการเดินทางอพยพของพวกมัน โดยทั้ง 2 กลยุทธ์นี้ใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการดำเนินงาน

พี่น้อง อิน-เอม กล่าวว่า สำหรับการศึกษาการอพยพ พฤติกรรม และสุขภาพของพะยูน ใช้โดรนที่ติดตั้งเซนเซอร์และกล้องที่ทันสมัย โดรนเหล่านี้ช่วยให้เราสามารถติดตามพะยูนจากระยะไกล เก็บข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว และระบุแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญหรือภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในกลยุทธ์การอนุรักษ์ ช่วยให้เราสามารถจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการและพัฒนาแผนการจัดการอย่างครอบคลุม เพิ่มความเข้าใจโดยรวมเกี่ยวกับนิเวศวิทยาของพะยูนและเสริมสร้างกลยุทธ์การอนุรักษ์ตลอดแนวชายฝั่งน่านน้ำไทย โดยจะส่งผลทั้งในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาทักษะของชุมชนในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ กลุ่มเป้าหมายหลักคือ พะยูนที่อาศัยอยู่ในเขตหน้าน้ำของทะเลไทยที่เหลืออยู่ประมาณ 100-200 ตัว ทั้งในเขตทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย

สองพี่น้องหัวใจนักอนุรักษ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับทาง ศูนย์วิจัยทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนบน พบว่ายังติดปัญหาเรื่องอุปกรณ์โดรนบางส่วน ทางกลุ่ม Below the Tides จึงเปิดโครงการ “Long Live Dugongs: อยู่ยงคงพะยูน” เพื่อระดมทุนสมทบทุนร่วมสนับสนุนในโครงการนี้ ซื้อเครื่องบินโดรน DJI Mavic 3 Thermal Surveillance Combo มูลค่า 240,000บาท และสถานีไฟฟ้าพกพา 2 ชุด มูลค่า 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 280,000 บาท ซึ่งทางกลุ่มสามารถระดมทุนได้ส่วนหนึ่งแล้วเพื่อสนับสนุนการสำรวจอนุรักษ์พะยูนและแหล่งอาหารให้แก่ ศูนย์วิจัยฯ แต่ยังขาดอีกประมาณ 80,000 บาท จึงเปิดระดมทุนเพิ่ม โดยผู้ที่จิตใจอนุรักษ์ธรรมชาติ สนใจร่วมบริจาคได้ โดยจะเปิดรับบริจาคทางเว็บไซต์ “เทใจดอทคอม” ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2567 ไปจนถึงเดือน มิถุนายน 2568

รายละเอียดโครงการ-ร่วมบริจาค

https://taejai.com/th/project/env-LongLiveDugongs

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#พี่น้อง ‘อิน-เอมBelow the Tides#พะยูน