กรมชลฯ รับมือฝนหนักภาคใต้ ควบวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 67/68

359

กรมชลฯ รับมือฝนหนักภาคใต้ ควบวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 67/68

เมื่อวันนี้ 4 พ.ย. ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำหรับเป็นข้อมูลการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม สอดคล้องในแต่ละพื้นที่ พบปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 35,633 ล้าน ลบ.ม. (75% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันประมาณ 15,060 ล้าน ลบ.ม. (83% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)

ด้านภาพรวมสถานการณ์น้ำทางตอนบน มีแนวโน้มเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,394 ลบ.ม./วินาที ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,051 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้พิจารณาทยอยปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และใช้ระบบชลประทานเหนือเขื่อนเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง แบ่งรับน้ำตามศักยภาพ ช่วยลดผลกระทบต่อพื้นที่ เร่งการระบายน้ำจากทางตอนบนลงสู่ตอนล่างทำได้เร็วยิ่งขึ้น

สำหรับลุ่มน้ำชี-มูล กรมชลประทาน ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ เพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย ได้แก่ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ และเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอสำหรับรองรับความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้

ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ที่เข้าสู่ฤดูฝน ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการ รับมือฤดูฝน ปี 67 อย่างเคร่งครัด จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เจ้าหน้าที่ ประจำสุดเสี่ยง ให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์น้ำได้อย่างทันที รวมทั้งหมั่นตรวจสอบและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ

กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 67/68 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 67 – 30 เม.ย. 68 จากปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พ.ย. 67 โดยมีแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งประเทศ 29,170 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับความสำคัญดังนี้ เพื่อการเกษตรฤดูแล้ง 16,555 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 3,050 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 800 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 8,765 ล้าน ลบ.ม. และสำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝนปี 68 อีก 15,080 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่คาดการณ์ปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศรวม 10.01 ล้านไร่ สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง 9,000 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำเพื่อการเกษตร 6,410 ล้าน ลบ.ม. เพื่ออุปโภค-บริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. เพื่ออุตสาหกรรม 135 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,305 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะปฏิบัติตาม 8 มาตรการรับมือฤดูแล้ง ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด และขอประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วน ใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดเพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต.

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#กรมชลประทาน#ฤดูแล้ง