กทม. เดินหน้านโยบายสังคมดี ลดการตีตรา-เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง

171

(24 ต.ค. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงาน Building Bridges – Breaking Barriers : สร้างเครือข่าย ทลายกำแพงเลือกปฏิบัติ พร้อมกล่าวในหัวข้อ “มนุษย์ อคติ และความเป็นอื่น กับมุมมองของ กทม. ในการจัดการปัญหาการเลือกปฏิบัติและความร่วมมือกับภาคประชาสังคม” ณ ห้องประชุมสุวิทย์ศักดานนท์ ชั้น 5 โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ ซึ่งสมัชชาเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (People’s Movement to Eliminate Discrimination : MovED) จัดขึ้นเพื่อให้เกิดความตระหนักและลดปัญหาการตีตราและเลือกปฏิบัติในสังคมไทย

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวสรุปโดยรวมว่า หลังจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายได้มีการปรับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ให้มีในเรื่องของสังคมดีเข้าไปเป็น 1 ในนโยบาย เพราะอยากทำให้สังคมดีขึ้น ซึ่งจะต้องตอบโจทย์ของการค้าขายอย่างไร เข้าถึงสุขภาพทุกกลุ่ม รวมถึงในเรื่องต่าง ๆ และการไม่เลือกปฏิบัติด้วย อาทิ การจัดรถบริการรับส่งคนพิการ-คนสูงอายุ การทำธนาคารอาหาร (Food Bank) การจัดรถบริการรับส่งช่วงฝนตก และการตรวจสุขภาพประชาชนฟรี 1 ล้านคน เป็นต้น ทุกอย่างทุกเรื่องที่ดำเนินการมุ่งหวังที่จะให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการรับสมัครคนพิการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครด้วย ซึ่งมีหลายอย่างที่กรุงเทพมหานครยังไม่พร้อมแต่พยายามหาแนวทางให้สามารถดำเนินการได้อย่างดีที่สุด เช่น การหางานที่เหมาะสมกับคนพิการแต่ละประเภท สถานที่ทำงานอยู่ชั้น 1 การเดินทางมาทำงานได้สะดวก สภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือบางงานสามารถทำที่บ้านได้ ซึ่งต้องทำอย่างไรให้ไม่มีข้อจำกัด คิดว่าปัจจุบันมีความพร้อมมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงได้มีการให้ความสำคัญกับเรื่อง Harassment ในที่ทำงานด้วย

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวด้วยว่า เมื่อพูดเรื่องไม่ตีตรา ในการทำเรื่องนี้ข้อดีคือพอสังคมเปิด ทำให้ยอมรับความหลากหลายไม่ยาก แต่จะยากในเรื่องของข้อมูล และเรื่องที่ทำให้ยอมรับความหลากหลายได้ยากหรืออาจจะเป็นเรื่องสุดท้ายน่าจะเป็นเรื่องรสนิยมความหลากหลายทางการเมือง อาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในวันนี้เราได้พูดถึงเรื่องการตีตรา การเลือกปฏิบัติ จะเห็นว่ามีการพยายามลดเรื่องดังกล่าวในสังคม แต่ก็ยังทำได้ไม่มาก จริง ๆ น่าจะมีความก้าวหน้ามากกว่านี้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการในด้านต่าง ๆ รวมถึงในโรงเรียนที่จัดให้มีการเรียนร่วม และพยายามจะให้มีการเรียนรวม ซึ่งการเรียนร่วมแตกต่างจากเรียนรวม เพราะเรียนร่วมจะร่วมกันเป็นบางเรื่อง แต่การเรียนรวมคือร่วมกันทุกเรื่อง และในชั้นเรียนได้มีหลักสูตรเกี่ยวกับความหลากหลายให้เด็กได้เรียนรู้ด้วย เพื่อให้เด็กรู้และในที่สุดความหลากหลายก็จะหายไป

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ข่าวกทม