เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (ผบช.สพฐ.ตร.) ในฐานะรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.พอ.ตร) ได้สรุปผลการปฏิบัติของศูนย์ฯ ตั้งแต่ พล.ต.อ.พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รรท.ผบ.ตร. มีสั่งการให้จัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อดำเนินการ บริหารจัดการ ประสานงาน และปฏิบัติการในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของร่างผู้ประสบเหตุจำนวน 23 ร่างเพื่อคืนแก่ญาติในการบำเพ็ญกุศลต่อไป โดยวันที่เกิดเหตุหลังจากที่ลำเลียงร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 23 ร่างออกมาจากรถบัสที่เกิดเพลิงไหม้และส่งไปยังศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.พอ.ตร) ซึ่งตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ได้ประเมินกรอบระยะเวลาในการพิสูจน์เอกลักษ์บุคคลประมาณ 48 ชั่วโมง แต่ด้วยการขับเคลื่อนศูนย์ฯ ที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเรียบร้อย สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและส่งมอบร่างผู้เสียชีวิตให้กับญาติภายในเวลาเพียง 27 ชั่วโมงเท่านั้น
พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า ก่อนที่จะถึงขั้นตอนการดำเนินการของศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปก.พอ.ตร. โดยมี พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ นั้น ขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่งคือการค้นหาผู้สูญหาย การลำเลียงร่างทั้ง 23 ร่าง รวมทั้งการร่วมชันสูตรร่างระหว่างพนักงานสอบสวน พิสูจน์หลักฐาน และแพทย์นิติเวช นั้น ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งคือ ต้องขอบคุณกู้ภัยต่างๆ มูลนิธิต่างๆ รวมทั้งจิตอาสาทุกคนที่ได้ร่วมกันดำเนินการจนกระทั่งร่างทั้ง 23 ร่างถูกเคลื่อนย้ายไปยังศูนย์ฯ ศปก.พอ.ตร. ที่สถาบันนิติเวช ตร. ด้วยความเรียบร้อย ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.พอ.ตร) ที่ ตร. มีคำสั่งตั้งไปแล้วนั้นมีองค์ประกอบคือ
(1)สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ซึ่งประกอบด้วย
1.1) กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1
1.2) กลุ่มงานตรวจทางเคมีฟิสิกส์ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1
1.3 )กลุ่มงานตรวจชีววิทยาและดีเอ็นเอ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
1.4) กลุ่มงานตรวจลายนิ้วมือแฝง กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
1.5) กลุ่มงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล
1.6) งานพิมพ์ลายนิ้วมือศพ กองทะเบียนประวัติอาชญากร (ทว.)
(2) โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งประกอบด้วย
2.1 )สถาบันนิติเวชวิทยา
2.2 ) กลุ่มงานทันตกรรม
ทั้งนี้จะเห็นว่าศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.พอ.ตร) นั้นมีการสนธิกำลังกันของหน่วยต่างๆ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ นอกจากนั้นยังมีการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มาช่วยดูแลเรื่องอาหาร น้ำ และของว่าง ตลอดการปฏิบัติภารกิจภายในศูนย์ฯ รวมทั้งทีมเยียวยาจิตใจ ของกรมสุขภาพจิต ที่จัดทีมงานมาพูดคุยกับญาติเพื่อบรรเทาความโศกเศร้า กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการอำนวยความสะดวกในการออกใบมรณะบัตรภายในศูนย์ฯ ให้กับญาติด้วย
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการขับเคลื่อนในการปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลทั้ง 23 ร่างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการระดมทั้งสรรพกำลังตลอดจนเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการเดินทางมาให้ขวัญกำลังใจ แก่ญาติผู้เสียชีวิต และการตรวจความเรียบร้อยของศูนย์ ของผู้แทนรัฐบาล เช่น นายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้บังคับบังคับบัญชาระดับสูงของ ตร.
ทำให้การดำเนินการส่งมอบร่างผู้เสียชีวิตให้กับญาติครบทั้งหมด 23 ร่าง ภายในเวลาเพียง 27 ชั่วโมงซึ่งเร็วกว่าเวลาที่ประเมินไว้มาก โดย สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้อย่างแน่ชัดตั้งแต่ร่างแรกที่เข้ามาถึงศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. เวลาประมาณ 17.30 น. หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลไม่ว่าจะเป็นการตรวจเก็บสารพันธุ์กรรม (DNA) ทั้งในส่วนของร่างผู้เสียชีวิตรวมถึงญาติที่จะต้องทำการเปรียบเทียบ DNA ยืนยัน และการพิมพ์ลายนิ้วมือของร่างซึ่งสามารถพิมพ์ลายนิ้วมือได้ 10 ร่าง การตรวจพิสูจน์ด้วยเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ การตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายนิ้วมือ
และท้ายที่สุดคือกระบวนการในการผ่าพิสูจน์ศพของแพทย์นิติเวช นอกจากนี้ยังมีการพิสูจน์ทราบอย่างอื่น เช่น ลักษณะของฟัน เครื่องประดับที่ยังอยู่ที่ตัว รวมถึงขั้นตอนของการสอบสวน การลงบันทึกประจำวันเพื่อปล่อยศพและการออกใบมรณะบัตรให้กับญาติโดยเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยที่มาอำนวยความสะดวกให้ด้วย จึงต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่จนเสร็จสิ้นได้เป็นอย่างดี
ด้าน พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง กล่าวว่า ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล 23 ร่างเจ้าหน้าที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจได้ใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมงเท่านั้น แต่หากนับรวมจนจบขั้นตอนเอกสารและส่งมอบครอบครัวจะนับเป็น 27 ชั่วโมง
สำหรับการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลกรณีนี้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานใช้หลายวิธี เริ่มตั้งแต่การสังเกตจากลักษณะทางกายภาพ คือรับข้อมูลจากครอบครัวว่าเสื้อผ้า หน้า ผมของผู้ที่สูญหายลักษณะเป็นอย่างไร ในวันที่เกิดเหตุมีแหวน,สร้อย หรือนาฬิกาอะไรบ้างที่เป็นลักษณะเด่น บางรายที่ผ่านมาแค่พบแหวนแต่งงานก็จะช่วยยืนยันเบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่ได้ทันที ส่วนที่สองการพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งปัจจุบันนี้การทำบัตรประชาชนเริ่มตั้งแต่เด็กอายุ 7 ขวบกรมการปกครองจึงมีฐานข้อมูลส่วนนี้แล้ว ฉะนั้นเจ้าหน้าที่นำร่างที่เคลื่อนย้ายจากที่เกิดมาเทียบกับพิมพ์มือที่กรมการปกครองเก็บไว้เพื่อยืนยันตัวบุคคล ทำให้จาก 23 รายเรายืนยันตัวบุคคลได้ทันที 10 ราย ส่วนที่สามคือการตรวจเลือดที่ยังอยู่ในร่างผู้เสียชีวิต ซึ่งแม้จะถูกไฟเผาส่วนต่างๆของร่างกายแต่ยังมีเลือดที่เก็บได้ เจ้าหน้าตำรวจพิสูจน์หลักฐานจึงจัดเก็บเลือดจาก 23 ร่างเทียบกับเยื่อบุกระพุ้งแก้มของญาติสายตรง 23 ครอบครัวเพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์ และในปัจจุบันเครื่องปั่นสกัดดีเอ็นเอสามารถทำงานได้ครั้งละ 24 ตัวอย่างต่อ 2 ชั่วโมง
พล.ต.ต.วาที กล่าวต่อว่าการตรวจดีเอ็นเอถ้าเทียบกันในกลุ่มพ่อแม่ลูกความแม่นยำจะสูง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องไปเก็บดีเอ็นเอจากครอบครัวที่จังหวัดอุทัยธานีในคืนที่เกิดเหตุทันทีและรีบเดินทางกลับมาที่ห้องปฏิบัติการที่กรุงเทพมหานครเพื่อให้รวดเร็วและแม่นยำ แต่ทั้งนี้มีอีกขั้นตอนในการตรวจเอกลักษณ์นอกจากเลือด คือประวัติทันตกรรม ในเหตุนี้เจ้าหน้าที่ใช้กับร่างที่ 23 ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนมีรูปแบบฟันหน้าชัดเจนเป็นฟันกระต่าย ก่อนที่คุณแม่ของน้องเดินทางมายืนยันดีเอ็นเออีกรอบ
“หน้าที่ของเราคือต้องเร่งคลี่คลายให้ครอบครัวผู้สูญเสียได้รู้ว่าคนไหนคือลูกหรือหลานเขา พวกเขาไม่สามารถรอให้ผ่าร่างในวันต่อไปได้ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือได้เจอครอบครัวของตัวเอง” พล.ต.ต.วาที กล่าว