นายณรงค์ คงคำ รองปลัดและโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ชี้แจงถึงปัญหาเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยกล่าวว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ง่ายขึ้น หมายถึง ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเด็กและเยาวชนที่จะตกเป็นเหยื่อในด้านต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ กระทรวง พม. มีภารกิจให้ความช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก และเหยื่อการค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 โดยตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาการล่อลวงทางอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้จัดตั้งศูนย์ COPAT – Child Online Protection Action Thailand เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน เชื่อมร้อยงานดูแลเด็กและเยาวชนบนโลกออนไลน์ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเด็กและเยาวชน ซึ่งมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ TICAC (หน่วยปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต) ตลอดมา เมื่อได้รับแจ้งจากจากช่องทางใด ๆ ว่า มีเด็กถูกล่วงละเมิด กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนจะส่งนักสังคมสงเคราะห์ไปทันที เพื่อรับเด็กมาให้การคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึง อาหาร ที่พัก รักษาพยาบาล บำบัดฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจ ให้การศึกษา ฝึกอบรม เรียกร้องสิทธิ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย
นอกจากนี้ ศูนย์ COPAT จะมีหน้าที่เชื่อมประสานงาน ให้การคุ้มครองช่วยเหลือเด็กในช่องทางออนไลน์แล้วนั้น ยังมีบทบาทที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ เฝ้าระวังสถานการณ์ เตือนภัย ชี้แจงสาธารณะ เสนอการปรับปรุงกฎหมาย ส่งเสริมการวิจัยพัฒนา ออกมาตรฐาน และการรับรอง ส่งเสริมให้เกิดแหล่งเรียนรู้เด็กและเยาวชนกับการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ จัดทำหลักสูตรกลางในการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานทุกส่วน จัดทำคู่มือ/แนวปฏิบัติ (Guidelines) แก่ทุกภาคส่วน เสริมสร้างความร่วมมือ/พันธมิตร ทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อให้การทำงานในประเด็นดังกล่าวบูรณาการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กและเยาวชน
โดยนายณรงค์ กล่าวถึงกรณีที่นางวีรวรรณ หรือ บุ๋ม มอสบี ว่าจำเป็นต้องผลักดันให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหา หรือการเปลี่ยนจากเหยื่อให้เป็นผู้อยู่รอด โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเด็ก