เลขา ป.ป.ส. ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันทำงานเพื่อลดปัญหายาเสพติด

215

เลขา ป.ป.ส. ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันทำงานเพื่อลดปัญหา สร้างเชื่อมั่นและพึงพอใจในการทำงานแก่ประชาชน พร้อมย้ำเดินหน้าปฏิบัติการฯ ให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด (ศปก.ครส.) ครั้งที่ 12/2567

โดยมีที่ปรึกษา ประกอบด้วย นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ พร้อมด้วย คณะกรรมการฯ อาทิ นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายแพทย์ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด พันเอก รังสฤษดิ์ นาคเมือง ผู้อำนวยการกอง กรมยุทธการทหารบก รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส. และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในพื้นที่ 25 จังหวัดนำร่อง ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส.
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ย้ำผลการดำเนินงานในพื้นที่ 25 จังหวัดนำร่อง ประสบความสำเร็จ บรรลุเป้าหมายในทุกมิติ ได้แก่ ด้านการปราบปราม ด้านการบำบัดรักษา และด้านการป้องกัน โดยเฉพาะการดำเนินการจับกุมข้อหาความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด การนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูฯ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงโดยจัดระเบียบสังคมในสถานบันเทิง/สถานบริการ และบริเวณรอบสถานศึกษาในพื้นที่เป้าหมายที่เป็นชุมชนแพร่ระบาดยาเสพติด โดยเป็นความร่วมมือสำคัญระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กรมคุมประพฤติ และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 25 จังหวัด ในการเข้าร่วมประชุมเพื่อกำกับติดตามผลการปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนด ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ประสานกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในการประเมินผลลัพธ์ ประกอบด้วย 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1. กลุ่มเป้าถูกดำเนินการและได้รับการแก้ไขปัญหา 2. สถานการณ์ปัญหายาเสพติดลดลงทุกจังหวัด 3. ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในแต่ละจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น 4. ความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในแต่ละจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น โดยจังหวัดที่ได้คะแนนประเมินผลการดำเนินงานสูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ ชลบุรีได้รับการประเมิน 97.70 คะแนน ปัตตานีได้รับการประเมิน 96 คะแนน และสมุทรปราการได้รับการประเมิน 94 คะแนน ตามลำดับ เป็นการสะท้อนความขยันในการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดที่กระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ ภายในจังหวัดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความพยายามสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้รับรู้ รับทราบ ถึงความ ตั้งใจในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประชุมร่วมกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานสถานการณ์ยาเสพติดและวางแผนการทำงานร่วมกัน โดยมุ่งเน้นไปที่
1.การยกระดับการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด และ อ.ท่าวังผา จ.น่าน โดยตั้งเป้าให้เป็นจังหวัดสีขาว ภายใน 30 กันยายน 2567
2.ยกระดับการปราบปรามยาเสพติดให้มีความเด็ดขาด จริงจังยิ่งขึ้น ทั้งผู้ค้ารายใหญ่ ผู้ค้ารายย่อย และตัวยาเสพติด เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและลดผลกระทบจากยาเสพติดในสังคม
3.เร่งรัดการจ่ายเงินสินบนรางวัลนำจับให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด โดยเฉพาะทหาร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อสนับสนุนและขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละในการทำงานอันตรายนี้
4.บูรณาการการปฏิบัติและกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยึดทรัพย์คดียาเสพติดให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อตัดเส้นทางการเงินของเครือข่ายยาเสพติดและลดอิทธิพล
5.ทบทวนการปฏิบัติและประเมินผลการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้กลไก ครส. และ ศปก.ครส. เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม
6.ให้พัฒนาระบบการประมวลผลข้อมูล Dash Board การแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้เสมือนกับการรายงานสถานการณ์ COVID-19 เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สถานการณ์
การวางแผน และเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจให้กับผู้บริหารระดับสูง และเชื่อมต่อไปสู่ระบบศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC)
7.ให้ขยายปฏิบัติการเร่งรัดฯ ในพื้นที่ 25 จังหวัด ขยายสู่ 77 จังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
พร้อมเน้นย้ำว่า การประชุมกับนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการผลักดันและยกระดับการทำงานด้านยาเสพติด ให้มีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณทุกหน่วยงานโดยเฉพาะ 25 จังหวัดเป้าหมายที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติงานอย่างจริงจัง ตลอดระยะเวลา 3 เดือนส่งผลให้สามารถดำเนินการกวาดล้างยาเสพติดในพื้นที่แพร่ระบาด สามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายที่่กำหนดไว้ในทุกประเด็น ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจแก่ประชาชน และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ศปก.ครส. จะนำผลการปฏิบัติงานในพื้นที่ 25 จังหวัดนำร่อง มาถอดบทเรียนเพื่อขยายผลเป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้ครบ 77 จังหวัดต่อไป โดย ศปก.ครส. จะดำเนินการจัดทำแผนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับพื้นที่แต่ละจังหวัดเพื่อเป็นแนวปฏิบัติในปีงบประมาณ 2568 มุ่งสู่การสร้างสังคมไทยให้ปลอดภัยจากยาเสพติดต่อไป

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์