“ปศุสัตว์“ระดมช่วยเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย
อธิบดีกรมปศุสัตว์สั่งสำนักงานปศุสัตว์ทุกพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยให้เข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และปศุสัตว์ทั้งหมด ส่วนพื้นที่เสี่ยงให้เตรียมพร้อมเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ขณะนี้เข้าช่วยเหลือใน 4 จังหวัดภาคเหนือที่น้ำท่วมวิกฤติ ด้วยการนำกำลังเจ้าหน้าที่ช่วยขนย้ายปศุสัตว์สู่ที่สูง สนับสนุนอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ตลอดจนรักษาสัตว์ป่วย ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์รายงานสัตว์ตายและสูญหายจำนวนหนึ่งด้วย
น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ด่านกักกันสัตว์ และศูนย์วิจัยอาหารสัตว์ ในพื้นที่ประสบอุทกภัยและหน่วยงานในสังกัดที่อยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์อย่างเต็มกำลัง ตามข้อสั่งการของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ที่ห่วงใยเกษตรกรเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังกำชับให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังและพร้อมเข้าช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทันท่วงที จากที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลากในภาคเหนือเนื่องจากฝนตกหนักส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ใน 4 จังหวัดได้แก่ น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย และพะเยา
โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์สรุปการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ใน 4 จังหวัด ว่ามีพื้นที่ประสบภัยรวม 22 อำเภอ 68 ตำบล 468 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 24,724 ราย มีสัตว์ในพื้นที่น้ำท่วม 1,478,861 ตัว แบ่งเป็น โค 32,460 ตัว กระบือ 6,082 ตัว สุกร 7,633 ตัว แพะ/แกะ 692 ตัว และสัตว์ปีก 1,431,994 ตัว รวมถึงแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ 142 ไร่ ส่วนรายงานสัตว์ตายและสูญหายใน 3 จังหวัดได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และน่าน แบ่งเป็น โค 9 ตัว กระบือ 7 ตัว สุกร 12 ตัว แพะ 36 ตัว และสัตว์ปีก 538 ตัว รวมตาย/สูญหาย 602 ตัว สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่และหน่วยงานสังกัดกรมปศุสัตว์เข้าช่วยเหลือเฉพาะหน้า ดังนี้ อพยพสัตว์ 10,783 ตัว มอบพืชอาหารสัตว์ 31,615 กิโลกรัม สนับสนุนชุดส่งเสริมสุขภาพสัตว์ 506 ชุด รักษาสัตว์ 76 ตัว
ล่าสุดได้รับรายงานด่วนเมื่อวันที่ 23 ส.ค.จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแพร่ ว่าที่ตั้งสำนักงานได้ถูกน้ำท่วมจึงต้องแจ้งหยุดทำการชั่วคราว ซึ่งขณะนี้พื้นที่เลี้ยงสัตว์และสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรจังหวัดแพร่ในพื้นที่อ.เมืองฯ สอง หนองม่วงไข่ ร้องกวาง แพร่ สูงเม่น และเด่นชัย ได้รับผลกระทบหลายราย ส่วนอ.ลองและวังชิ้น คาดจะได้รับผลกระทบตามมาอีกหนึ่งถึงสองวัน
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้ให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุและบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เร่งเข้าสำรวจผลกระทบและความเสียหายด้านปศุสัตว์จากอุทกภัยที่เกิดขึ้นทันที ที่สถานการณ์คลี่คลายเพื่อเร่งช่วยเหลือชดเชยเยียวยา ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติ เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2564 ซึ่งแต่ละชนิดสัตว์จะมีอัตราและเกณฑ์การช่วยเหลือดังนี้
1)โคอายุน้อยกว่า 6 เดือนอัตราตัวละไม่เกิน 13,000 บาท ช่วยเหลือไม่เกิน รายละ 5ตัว อายุ 6 เดือนถึงหนึ่งปี 22,000 บาท 1-2 ปี 29,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 35,000 บาท
2)กระบืออายุน้อยกว่า 6 เดือน 15,000 บาท รายละไม่เกิน 5 ตัว อายุ6 เดือน -1 ปี 24,000 บาทอายุมากกว่า 1-2 ปี 32,000 บาทอายุมากกว่า 2ปีขึ้นไป 39,000 บาท
3)สุกรอายุ 1-30 วัน 1500 บาทไม่เกินรายละ 10 ตัว อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป 3000 บาท
4)แพะ/แกะ อายุ 1-30 วัน 1,500 บาท ไม่เกินรายละ 10 ตัว อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป 3,000 บาท
5)ไก่พื้นเมือง/ไก่งวง อายุ 1-21 วัน 30 บาทไม่เกินรายละ 300 ตัว อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 80 บาท
6)ไก่ไข่อายุ 1- 21 วัน 30 บาท ไม่เกินรายละ 1000 ตัวอายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 100 บาท
7)ไก่เนื้ออายุ 1- 21 วัน อัตราไม่เกิน 20 บาท ไม่เกินรายละ 1000 ตัวอายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 50 บาท
8)เป็ดไข่ อายุ 1- 21 วัน 30 บาท ไม่เกินรายละ 1000 ตัวอายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 100 บาท
9)เป็ดเนื้อเป็ด/เทศ อายุ 1-21วัน 30 บาท ไม่เกินรายละ 1000 ตัวอายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 80 บาท
10)นกกระทา อายุ 1-21วัน 10 บาท ไม่เกินรายละ 1000 ตัวอายุมาก อายุมาก 21 วันขึ้นไป 30 บาท
11)นกกระจอกเทศ 2,000 บาท ไม่เกินรายละ 10ตัว
12)ห่าน 100 บาท ไม่เกินรายละ300 ตัว
13)แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ 1980 บาท ต่อไร่ รายละไม่เกิน 30 ไร่
ทั้งนี้ หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องการแจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ สามารถแจ้งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ในพื้นที่ หรือแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง.