สรุปผลงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับโทรทัศน์ไทยมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

142

สรุปผลงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับโทรทัศน์ไทยมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 ส.ค. 67) มีการเผยแพร่ผลการศึกษาภายใต้โครงการศึกษาฉากทัศน์กิจการแพร่ภาพกระจายเสียงในอนาคตของไทยภายใต้สภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป (A study on the future of television broadcast/audio-visual sector in Thailand under a rapidly changing digital evolution) ซึ่งจัดทำโดยทีมที่ปรึกษาจาก SCF Associates ซึ่งเป็นคณะนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรป ร่วมกับคณะนักวิจัยจากจุฬาฯ และมจล. ซึ่ง SCF เคยได้รับการว่าจ้างจากสำนักงาน กสทช. ให้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท โทรคมนาคมรายใหญ่ในทั้งสองกรณี มาก่อนหน้า

ในการศึกษาภายใต้โครงการดังกล่าว มีการสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของตลาดในประเทศไทยจากมุมมองของผู้ประกอบกิจการแพร่ภาพกระจายเสียง มุมมองของผู้บริโภค และการที่ผู้ให้บริการรายใหญ่จากต่างประเทศเข้าสู่ตลาดไทย พบว่าตลาดสื่อโสตทัศน์ของไทยได้ขยายตัวไปสู่อุตสาหกรรมสื่อแพร่ภาพกระจายเสียงที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของการให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เรียกกันว่า OTT) ทั้งในรูปแบบ Video-on-Demand และ Video Sharing Platform ซึ่งมีที่มาจากทั้งแพลตฟอร์มระดับโลกและในประเทศไทยเองที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการให้บริการโทรทัศน์แบบดั้งเดิมที่ในภาพรวมมีแนวโน้มรายได้ไปในทิศทางที่คงที่หรือลดลง

ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการด้วยเม็ดเงินได้มุ่งไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ทั้งนี้ สอดคล้องกับผลการสำรวจที่พบว่าในปัจจุบันผู้ชมนิยมเข้าถึงเนื้อหาผ่านสื่อ Social Media โดยอันดับแรกคือ YouTube

อย่างไรก็ดี กิจการโทรทัศน์ที่ออกอากาศตามผังรายการ (Linear TV) ก็ยังคงความสำคัญโดยเฉพาะกับกลุ่ม Baby Boomer ที่มีอายุตั้งแต่ 59 ปีขึ้นไป โดยประเภทรายการที่รับชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์มากที่สุดคือรายการประเภทข่าว ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาประเภทเนื้อหาของช่องดิจิทัลทีวีประเภทธุรกิจ ระหว่างปี พ.ศ. 2565 -2567 ที่พบว่ามีการออกอากาศรายการข่าวในสัดส่วนที่สูง (กว่า 35%) ในขณะที่รายการประเภทสาระความรู้ เด็กและเยาวชน และสารคดี มีการออกอากาศที่น้อยมาก

ทั้งนี้ พบว่าสื่อโทรทัศน์ในรูปแบบดั้งเดิมก็ได้มีความพยายามปรับตัวเพื่อให้สามารถรองรับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปผ่าน 4 แนวทางหลัก ได้แก่
(1) การร่วมมือกับแพลตฟอร์ม OTT เช่น การจัดทำ Business Model ใหม่ๆ ร่วมกัน
(2) การกระจายเนื้อหาไปสู่หลากหลายแพลตฟอร์มเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมมากขึ้น
(3) การทำเนื้อหาเจาะกลุ่มแฟนคลับ หรือniche content และ
(4) การหา business model รูปแบบใหม่ๆ เพื่อหารายได้เพิ่มเติม เช่น คอนเสิร์ตการบริหารศิลปินและสินค้า

นอกจากนี้ ที่ปรึกษายังได้มีการศึกษาปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อตลาดภายในประเทศ เช่น เทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO), Metaverse, AI และ สภาวะทางเศรษฐกิจการเงินในระดับโลก เป็นต้น รวมถึงยังมีการศึกษาบทเรียนจากประเทศอื่นๆ ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป อีกด้วย

ในส่วนของผลกระทบของ LEO ต่ออุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียงของไทยนั้น คณะที่ปรึกษามองว่า การมาของการสื่อสารผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) กำลังท้าทายบทบาทของการให้บริการกิจการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายดาวเทียมในปัจจุบันที่มีการใช้งานดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (GEO) โดยคุณลักษณะเด่นของดาวเทียม LEO คือ สามารถเคลื่อนที่รอบโลกด้วยความเร็วสูง ซึ่งสร้างโอกาสในการให้บริการการสื่อสารและบริการบรอดแบนด์ทั่วโลกโดยไม่จำกัดในพื้นที่รวมถึงลดความล่าช้าในการส่งข้อมูล (Latency) ได้ เนื่องจากดาวเทียม LEO อยู่ใกล้กับโลกมากขึ้นเมื่อเทียบกับดาวเทียมในระดับอื่นๆ ส่งผลให้สัญญาณข้อมูลที่ส่งไป-กลับระหว่างดาวเทียมและอุปกรณ์ใช้เวลาน้อยกว่าและมีเสถียรภาพมากขึ้นซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานแบบ Interactive สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีนี้เป็นอีกหนึ่งความเป็นไปได้ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในกิจการแพร่ภาพกระจายเสียงภายในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยปัจจุบันผู้รับชมโทรทัศน์กว่าร้อยละ 60 รับชมผ่านโครงข่ายดาวเทียม GEO ซึ่งในอนาคตดาวเทียม LEO อาจเข้ามาแทนที่การให้บริการโทรทัศน์ด้วยการให้บริการบรอดแบนด์ และอาจจะมีการนำเสนอบริการบรอดแบนด์ในราคาที่ประหยัดกว่าการเดินสายใยแก้วนำแสงภายในบ้าน โดยผู้ประกอบการดาวเทียม LEO สามารถสร้างและดำเนินการเครือข่ายระดับโลกและระยะไกลได้ทั้งหมดผ่านอวกาศ
ดังนั้นแล้ว การกำกับดูแลและการส่งเสริมที่เหมาะสม จะเป็นส่วนขับเคลื่อนที่สำคัญต่ออนาคตของอุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียงของไทย เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะทำให้อุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียงของไทยพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดบริการใหม่ๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

ทั้งนี้ ทีมที่ปรึกษาได้สร้างฉากทัศน์ขึ้นเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้สำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมไทยภายใต้เงื่อนไขตามที่กล่าวไปข้างต้น ออกมาเป็นฉากทัศน์ 3 แบบ ดังนี้

1.ฉากทัศน์แบบแรก คือแบบที่ปล่อยให้เป็นไปอย่างที่เป็นอยู่ (Status Quo) โดยไม่มีการแทรกแซงอย่างมีนัยสำคัญจากหน่วยงานกำกับดูแลหรือหน่วยงานภาครัฐใด จะมีความแตกต่างในการกำกับดูแลระหว่างผู้ประกอบกิจการที่ขณะนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และผู้ให้บริการ OTT ในขณะที่ผู้บริโภคหันไปดูทีวีผ่านแพลตฟอร์ม OTT มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบดั้งเดิมจะสูญเสียรายได้ค่าโฆษณาไปให้แพลตฟอร์มใหม่ๆเรื่อยๆ จนอาจต้องปิดตัวลง ในกรณีนี้ บริษัทที่ปรึกษาเสนอว่าจะต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม

2.ฉากทัศน์แบบที่ 2 ซึ่งผู้วิจัยเรียกว่าเป็นตลาดแบบผสม (Mixed Market) จะมีการกำกับดูแลและมาตรการสนับสนุนอย่างรอบคอบสู่ตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น ต้องหาจุดสมดุลที่ตลาดแพร่ภาพกระจายเสียงสามารถแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ตลาดสตรีมมิ่งยังคงแข่งขันได้ และผู้ประกอบการดิจิทัลทีวีและดาวเทียมก็เข้าสู่ตลาดสตรีมมิ่งด้วย

ในแนวทางนี้ กฎระเบียบในการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม และผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมจะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งได้เสนอแนะให้มีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งสำหรับผู้ประกอบกิจการที่เป็นLinear TV (Broadcasters’ Video-on-Demand: BVOD) เนื่องจากจะเป็นส่วนสำคัญอันจะช่วยเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเนื้อหาได้

ในขณะที่ไทยอาจมีกฎหมายของตัวเองในแบบที่สหภาพยุโรปมี Digital Services Act (DSA) และ Digital Markets Act (DMA) เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภค และผู้ประกอบการที่พัฒนาเนื้อหาของไทยโดยจะต้องคำนึงถึงอำนาจต่อรองที่จะใช้กับผู้ให้บริการระดับโลกอย่าง Google, Apple, Facebook (Meta),Amazon และ Microsoft ซึ่งผู้วิจัยเรียกย่อๆ ว่า GAFAM

ทั้งนี้ การยกระดับอุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียงของไทยในแบบนี้ จำเป็นจะต้องคำนึงถึงการอิ่มตัวของตลาด และความเป็นไปได้ของสภาพการณ์ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ด้วย ดังนั้น ในการกำกับดูแลและสนับสนุนอุตสาหกรรม จำเป็นจะต้องปกป้องและส่งเสริมโอกาสแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายเล็ก ทั้งผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยหรือด้อยโอกาส ผู้ประกอบกิจการในฝั่งอุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียงและฝั่งผู้ให้บริการโทรคมนาคมด้วย ซึ่งรวมไปถึงการส่งเสริมการผลิตเนื้อหาไทยด้วย

3.ฉากทัศน์แบบที่ 3 คือการยกระดับอุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียงของไทยขึ้นไปสู่การผลิตเนื้อหาคุณภาพสูงและการแข่งขันระดับโลก (Industrial Strategy) ซึ่งนับว่าเป็นการยกระดับการพัฒนาสู่ขั้นสูงสุด โดยต้องเน้นทั้งคุณภาพของเนื้อหาและการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม อีกทั้งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างเป็นระบบ

ในฉากทัศน์แบบนี้ จะต้องมีการสนับสนุนอย่างเข้มข้น สร้างความก้าวหน้าในการผลิตเนื้อหาไทยให้ได้รับความนิยมในระดับโลก รวมถึงการฟื้นฟูอุตสาหกรรมโทรทัศน์และสตรีมมิ่งของไทย กำจัดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เป็นอันตรายต่อกลุ่มเปราะบาง รวมถึงข่าวปลอมทั้งหลายด้วย โดยผู้วิจัยบอกว่าให้ลองนึกถึงแนวทางของประเทศฝรั่งเศสและเกาหลีใต้ เป็นตัวอย่าง

    อย่างไรก็ตาม การที่จะเกิดภาพตามแนวทางนี้ได้จะต้องมีการปฏิรูปองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกิจการการแพร่ภาพกระจายเสียงของไทยจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ตั้งแต่การเป็นสถานที่ผลิตไปจนถึงการส่งเสริม เผยแพร่เนื้อหาสร้างสรรค์ของไทยสู่แพลตฟอร์มรวมถึงเทศกาลระดับโลก โดยผู้วิจัยเสนอให้จัดตั้ง
    (1)Regulatory Authority for Digital Audiovisual Media รับผิดชอบหลักในมิติของการกำกับดูแลซึ่งรวมไปถึงมิติด้านการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนการประสานงานระหว่างประเทศและการจัดเก็บภาษี และ
    (2) Thai Audiovisual Industry Council รับผิดชอบหลักในมิติของการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการทั้งขั้นตอนก่อนการผลิต ระหว่างการผลิต และภายหลังการผลิต รวมถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรมในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในไทยและระดับสากล เช่น การสนับสนุนการว่าจ้างแรงงานท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องมีการผลักดันและประสานความร่วมมือในการกำกับดูแลในระดับนานาชาติ เช่น ความร่วมมือในระดับอาเซียนและกับสหภาพยุโรป เป็นต้น

    โดยฉากทัศน์ทั้ง 3 แบบนี้ อาจมองได้ว่าเป็นลำดับขั้นตอนในการยกระดับอุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียงไทยเพื่อให้มีเนื้อหาคุณภาพสูงและสามารถผลักดันเพื่อไปสู่การแข่งขันและส่งออกในระดับโลกได้

    ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.facebook.com/share/p/wZyGx6xGsA2k8FX1

    #Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์