“ก้าวไกล” จี้คมนาคม แจงส่วนต่างสายสีส้ม 6.8 หมื่นล้านหายไปเข้ากระเป๋าใคร!!

341

ที่สภาผู้แทนราษฎร วันที่ 1 สิงหาคม 2567 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้สดด้วยวาจาถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประเด็นรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งมีส่วนต่างสูงถึง 68,613 ล้านบาท สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ได้รับคัดเลือก และมีการลงนามสัญญาวันที่ 18 กรกฎาคม รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธี โดย รมว.คมนาคม มอบหมายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สุรพงษ์ ปิยะโชติ ตอบแทน

สุรเชษฐ์กล่าวว่า ส่วนต่างดังกล่าวมาจากการประมูล 2 ครั้งในปี 2563 และปี 2565 เพื่อสร้างสิ่งเดียวกันคือรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีระยะทางและจำนวนสถานีเท่าเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ วันนี้ รมว.คมนาคม ควรมาตอบด้วยตัวเองแต่กลับไม่มา หวังว่า รมช.คมนาคม จะตอบคำถามได้อย่างชัดเจน กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มในฝั่งตะวันออกของ กทม. รัฐอุดหนุนค่าก่อสร้าง 100% สร้างเสร็จแล้ว แต่ที่มีปัญหาคือฝั่งตะวันตก ที่รัฐจะอุดหนุนค่าก่อสร้าง 100% เช่นกัน แต่ให้เอกชนแข่งขันกันว่าเมื่อได้สิทธิ์เดินรถทั้ง 2 ฝั่งแล้ว ใครจะคืนผลตอบแทนให้รัฐมากกว่า ภายใต้เงื่อนไขราคาค่าโดยสารที่กำหนด

ทั้งนี้ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 เจ้า คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในการประมูลปี 2563 ทั้ง 2 เจ้าใหญ่เข้าไปแข่งขันกันจริง เพราะเห็นโอกาสทำกำไรเนื่องจากรัฐอุดหนุนค่าก่อสร้างทั้งหมด ขณะที่สายสีเขียวเอกชนต้องเป็นคนลงทุนค่าก่อสร้าง 100% ซึ่งการประมูลเมื่อปี 2563 นั้น หากเป็นไปตามกระบวนการปกติ ไม่ถูกล้มประมูล บริษัท BTS จะเป็นผู้ชนะ โดยขอเงินอุดหนุนจากรัฐคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเพียง 9,675 ล้านบาท แต่เมื่อมีกลบางอย่างทำให้เกิดการล้มประมูล จากนั้นประมูลใหม่ในปี 2565 กลุ่ม BEM ชนะการประมูลโดย BTS ไม่ได้เข้าแข่งขัน ทำให้รัฐต้องอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท มีส่วนต่างเกิดขึ้นเป็นมูลค่าปัจจุบัน 68,613 ล้านบาท

ในการประมูลรอบแรก ข้อเสนอของ BTS ที่ยื่นต่อ รฟม. ตั้งแต่ปีที่ 1-34 ในปีแรกๆ เงินอุดหนุนที่รัฐต้องให้เพื่อดำเนินงานก่อสร้าง คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันทั้งสิ้น 79,820 ล้านบาท นี่คือก้อนที่หนึ่ง โดยในปีแรกๆ ของการเดินรถ จะยังไม่มีกำไร ยังไม่สามารถตอบแทนคืนรัฐ จนกระทั่งปีที่ 20 จึงเริ่มตอบแทน และเมื่อถึงปีที่ 34 คิดมูลค่าผลตอบแทนคืนรัฐรวม 70,145 ล้านบาท นี่คือก้อนที่สอง พูดง่ายๆ คือขอเงินรัฐมาก่อน จากนั้นค่อยจ่ายคืน เท่ากับว่าจำนวนที่รัฐต้องจ่ายจริงคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 9,675 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับข้อเสนอของกลุ่ม BEM ในการประมูลปี 2565 ที่รัฐบาลเพิ่งเซ็นสัญญาเมื่อ 18 กรกฎาคม พบว่าขอเงินรัฐอุดหนุนการก่อสร้างรวม 81,871 ล้านบาท เป็นก้อนที่หนึ่ง ในรูปแบบเดียวกัน จนถึงปีที่ 34 จะคืนกำไรให้รัฐคิดเป็นมูลค่าผลตอบแทนรวม 3,583 ล้านบาท เป็นก้อนที่สอง เท่ากับโดยรวมรัฐอุดหนุนโครงการนี้ 78,288 ล้านบาท ความน่าสนใจคือในรายละเอียดเงินสนับสนุนค่าก่อสร้าง แทบไม่ต่างกัน ส่วนที่ต่างมหาศาลคือผลตอบแทนคืนให้รัฐ ต้องถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับการประมูลในกระทรวงคมนาคม

สุรเชษฐ์สรุปปัญหาค่าส่วนต่างของรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า แบ่งเป็น 5 กระบวนท่าคือ 1) เตรียมเค้กชิ้นใหญ่ 2) ล็อกเป้าเอาไว้ 3) เตะตัดขาผ่านการล้มประมูลปี 2563 4) พอจะประมูลใหม่ในปี 2565 ก็ฆ่าตัดตอน ไม่ให้อีกเจ้าเข้ามา 5) จบด้วยการรอทอนส่วนแบ่งอะไรหรือไม่ รวมเป็นปรากฏการณ์ฟอกขาว หรือทำให้ “ถูกต้องโดยทุจริต” จากเมกะโปรเจกต์จึงกลายเป็นเมกะดีล

ดังนั้นคำถามที่ 1 ส่วนต่างกว่า 68,000 ล้านบาทหายไปไหน ลงกระเป๋าใครบ้าง คำถามที่สองเรื่องค่าโดยสารที่ประชาชนต้องจ่ายค่าแรกเข้า 15 บาท และคิดตามสถานี คือถ้าเดินทางอย่างน้อยหนึ่งสถานีต้องจ่าย 17 บาท โดยค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 44 บาท โดยจะปรับราคาตามดัชนีราคาผู้บริโภคทุกสองปี แต่หลังปีที่ 10 ราคาจะก้าวกระโดดมาที่หนึ่งสถานีต้องจ่าย 20 บาท โดยค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 62 บาท ดังนั้น หากดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยอยู่ที่ 3% หลังปีที่ 10 จะมีการปรับราคาจาก 17-50 บาท (ขึ้นกับจำนวนสถานี) กระโดดไปเป็น 23-83 บาท “เหมือนวางกับดักไว้เพื่อการหาเรื่องขยายสัมปทานอีก ซึ่งหากไม่มีดีลที่ดีกว่า มีหรือที่นายทุนจะยินยอมแก้ไขสัญญา”

สุรเชษฐ์กล่าวว่า ตนและพรรคก้าวไกลเคยชี้ปัญหานี้ตั้งแต่ก่อนเซ็นสัญญา แต่ทำไมหน่วยงานรัฐและรัฐบาลไม่แก้ไขปัญหาให้เสร็จก่อน กลับเร่งเซ็นสัญญาภายใน 2 วันหลังจาก ครม. อนุมัติ ดังนั้นคำถามที่สอง คือรัฐบาลนี้ได้เจรจาเพิ่มเติมเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนจากดีลมืดในรัฐบาลก่อนหรือไม่ อัตราค่าโดยสารตามสัญญาที่เพิ่งเซ็นเมื่อ 18 กรกฎาคม จะออกมาเป็น 17-44 บาท และจะกระโดดขึ้นอย่างแรงในปีที่ 10 ใช่หรือไม่ “จากคำชี้แจงของรัฐมนตรี บอกว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นไม้ที่ 4 ของการดำเนินงานเรื่องนี้ เลยทำได้แค่นี้ จึงอยากถามว่าได้ทำอะไรเพิ่มเติมจากไม้ที่สามหรือรัฐบาลก่อนหน้าบ้างหรือไม่ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน”

สุรเชษฐ์กล่าวถึงคำถามที่สามว่า กรณีนโยบาย 20 บาทตลอดสาย รัฐบาลก็ควรเจรจาตั้งแต่ก่อนเซ็นสัญญา ไม่ใช่ถึงเวลาเอาเงินของประชาชนทั่วประเทศไปอุดสายสีส้ม รัฐบาลนี้ได้เจรจาเพื่อลดราคาตามนโยบาย 20 บาทตลอดสายที่เคยหาเสียงหรือไม่

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #พรรคก้าวไกล #สุรเชษฐ์ประวีณวงศ์วุฒิ #รถไฟฟ้าสายสีส้ม #คมนาคม