‘รมช.เกษตรฯ’ ดีเดย์…กำจัดปลาหมอคางดำพ้นพื้นที่ กทม.

169

‘รมช.เกษตรฯ’ ดีเดย์…กำจัดปลาหมอคางดำพ้นพื้นที่ กทม.

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดปฏิบัติการ “การกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร“ โดยมี นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯร่วมงาน บริเวณคลองเกาะโพธิ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วลงสู่แหล่งน้ำเป็นวงกว้าง ในพื้นที่ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ 67-70 ประกอบด้วย 7 มาตรการ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอโดยใช้กรอบงบประมาณ 450 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยการจับออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเครื่องมือประมงที่ทีประสิทธิภาพ และกำจัดจากบ่อเพาะเลี้ยงด้วนกากชา 2. กำจัดในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง และปล่อยปลาผู้ล่าตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำ ไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว ในพื้นที่เป้าหมาย 16 จังหวัด มุ่งเน้นการจัดหาพันธ์ปลาผู้ล่าที่มีความเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ 3. การนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การแปรรูป (น้ำหมัก) 4. สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน 5. สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัด จัดทำคู่มือประชาชนและเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือการแพร่ระบาด 6. พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านประมง ด้วยการเหนี่ยวนำโครโมโซม / ใช้ฟีโรโมน แสงสี ให้ปลาหมอคางดำรวมตัวกัน เพื่อการจับที่ง่ายขึ้น และ 7. ฟื้นฟูระบบนิเวศโดยสำรวจแหล่งน้ำต่างๆ ว่าเคยมีสัตว์น้ำประจำถิ่นอะไรบ้าง จากนั้นเพาะพันธุ์เพื่อนำไปปล่อยคืนฟื้นฟูระบบนิเวศน์

นายอรรถกร กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมในวันนี้ ถือเป็น 1 ในมาตรการเร่งด่วน คือ การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวประมงในพื้นที่เร่งกำจัดออก โดยเฉพาะในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อลดปริมาณของปลาหมอคางดำที่ระบาดให้ได้มากที่สุด คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการกำจัด และจะดำเนินมาตรการอื่นๆ ตามลำดับ อีกทั้งกรมประมงยังได้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในการนำปลาหมอคางดำไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ และการยางแห่งประเทศไทย สนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาท ในการรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่พบการระบาดทุกแห่ง 17 จังหวัด รวม 75 จุด พร้อมยืนยันว่างบของ กยท. นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเงินกองทุนในการช่วยเหลือสมาชิกชาวสวนยางจึงไม่ส่งผลกระทบอย่างแน่นอน และงบ 450 ล้านบาทที่ ครม. อนุมัติ จะดำเนินการใน 7 มาตรการกำจัดปลาหมอคางดำต่อไป โดยวันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งหมด ระยะเวลาการรับซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 ส.ค. จากนั้น กยท. จะประเมินโครงการ หากพบว่ายังแพร่ระบาดหนักก็จะขยายระยะเวลาเพิ่มเติม ในส่วนของการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ ได้มอบหมายให้กรมประมงเร่งสำรวจเกษตรกรที่ขึ้นทะเทียน

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯที่พบการแพร่ระบาด 3 เขต ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ และเขตบางบอน มีจุดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัท วรนิชนันท์ จำกัด แขวงบางบอนเหนือ เขตบางบอน 2. นายสุวัฒน์ ไชยยันต์บูรณ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน และ 3. นายอภิสิทธิ์ ช้างเจริญ ถนนเลียบคลองพิทยาลงกรณ์ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน

โดยในวันนี้ รมช.เกษตรฯ ได้มอบเครื่องมือประมงให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อใช้ในการจับปลาหมอคางดำ จากนั้นร่วมกิจกรรมกำจัดปลาหมอคางดำ ณ คลองเกาะโพธิ์ โดยปลาหมอคางดำที่จับได้ในวันนี้ มีน้ำหนักรวมกว่า 300 กิโลกรัม จากนั้นได้เยี่ยมชมการสาธิตแปรรูปเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ อาทิ ปลาแดดเดียว ปลาบดแผ่น ไส้อั่ว และชมสาธิตการทำน้ำหนักชีวภาพคุณภาพสูงจากปลาหมอคางดำ อีกด้วย ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดในกรุงเทพฯ เขตพื้นที่บางขุนเทียน มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) ทั้งสิ้น 859 ราย พื้นที่เลี้ยง 16,957 ไร่ แบ่งตามชนิดสัตว์น้ำ ดังนี้ กุ้งทะเล 614 ราย หอยแครง 165 ราย หอยแมลงภู่ 36 ราย ปูทะเล 4 ราย ปลาทะเล 10 ราย ปลาน้ำจืด 30 ราย มีคลองสาธารณะทั้งสิ้น 39 คลอง.

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#ปลาหมอคางดำ