ชป.พร้อมรับมือฝนตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 67

4736

ชป.พร้อมรับมือฝนตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 67

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 38,069 ล้าน ลบ.ม. (50% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 38,268 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,425 ล้าน ลบ.ม. (38% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 15,446 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ หลายพื้นที่เริ่มมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง นำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ควบคู่ไปกับการเก็บกัก รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ มีการกำหนดคน กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือและระบบสื่อสาร ประจำพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ

ล่าสุด กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานมหาสารคาม เร่งระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน และอ่างเก็บน้ำห้วยคะคาง (โคกก่อ) อ.เมือง จ.มหาสารคาม หลังมีฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ของความจุของอ่างฯ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯได้ จึงเร่งระบายน้ำจากอ่างฯ แก่งเลิงจานลงสู่คลองผันน้ำแก่งเลิงจาน ผ่านประตูระบายน้ำท่าสองคอน พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 42 นิ้ว อีก 2 เครื่อง เพื่อเร่งระบายลงสู่แม่น้ำชี รวมทั้งเร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ไหลมากับกระแสน้ำบริเวณอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนอ่างฯ ห้วยคะคาง ได้เดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำท่าตูม 4 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้วอีก 4 เครื่อง เพื่อช่วยระบายน้ำที่อยู่ในเขตเมืองมหาสารคาม ทั้งนี้ โครงการชลประทานมหาสารคาม ได้ทำหนังสือประกาศแจ้งเตือนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ติดลำห้วยคะคางและพื้นที่ท้ายอ่างฯ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอำเภอเมืองมหาสารคามยังไม่อยู่ในภาวะวิกฤต ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ากรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรเครื่องมือไว้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มความสามารถ.

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#ชป.