โรม จี้ กต.เชิญผู้แทนพิเศษให้ข้อมูลเพิ่ม กรณีแบงค์ไทยตกเป็นเครื่องมือรบ.ทหารเมียนมาฆ่าปชช.

141
นายรังสิมันต์ โรม

“โรม” ถามกระทู้สด รมว.ต่างประเทศ กรณีธนาคารไทยเอี่ยวทำธุรกรรมกับนอมินีรัฐบาลทหารเมียนมาซื้ออาวุธถล่มประชาชน จี้ กต.เชิญผู้แทนพิเศษมาให้ข้อมูลเพิ่ม “มาริษ” ยันจุดยืนไทยไม่ส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมตรวจสอบให้ความร่วมมือ แต่ต้องชั่งน้ำหนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย

วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้สดด้วยวาจาถามนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีรายงานของ ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ออกมาระบุว่าระบบธนาคารของประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชนในประเทศเมียนมา โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (รมว.กต.) มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน

โดยรังสิมันต์เริ่มต้นคำถามด้วยการกล่าวถึงรายงานดังกล่าว ว่าเนื้อหาในรายงานชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลทหารเมียนมาได้มีการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ จนสามารถซื้ออาวุธไปใช้สังหารประชาชนชาวเมียนมาผ่านระบบธนาคารของประเทศไทย โดยแต่เดิมธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลเมียนมาคือ MFTB และ MICB ซึ่งถูกสำนักงานควบคุมทรัพย์สินในต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา (OFAC) คว่ำบาตรตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาไม่สามารถทำธุรกรรมจากเมียนมาได้  

และเนื่องจากการทำธุรกรรมจากเมียนมา ซึ่งถูกประกาศเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงตามประกาศของ คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ธุรกรรมต่างๆ ที่ทำระหว่างไทยกับเมียนมาต้องมีการทำการตรวจสอบลูกค้าเสี่ยงสูง (EDD) ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคารพาณิชย์ต้องหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อประเมินว่าธุรกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงหรือไม่ แต่จากรายงานดังกล่าว มีธนาคารจำนวนหนึ่งที่มีมูลค่าการทำธุรกรรมเกี่ยวกับเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น อีกธนาคารหนึ่งมีธุรกรรมที่ลดลง ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลการคว่ำบาตรซึ่งเป็นไปตามระเบียบ ปปง. ธนาคารฝั่งประเทศไทยต้องปฏิเสธการทำธุรกรรมและยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทดังกล่าว

รังสิมันต์กล่าวไป ว่าการที่กระบวนการตรวจสอบ EDD ของธนาคารไทยมีความลักลั่น ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จะส่งผลต่อมาตรฐานทางการเงินของประเทศไทยหรือไม่ และในปี 2027 ประเทศไทยจะต้องถูก FATF ประเมินว่าระบบธนาคารของไทยยังได้มาตรฐานหรือไม่ ยังไม่นับรวมว่ารัฐบาลทหารเมียนมาได้เปลี่ยนมาใช้บริษัทที่ยังไม่ถูกคว่ำบาตรจาก OFAC เพื่อมาทำธุรกรรมกับธนาคารของประเทศไทย รวมทั้งเปิดบริษัทนอมินี

และยังมีบริษัทไทยอย่างน้อยสองบริษัท ได้แก่ CB Energy และ ตะวันออยล์ อาจเป็นนอมินีของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ถูกนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ และยังปรากฏชื่อของธนาคาร MEB และ MADB ที่รัฐบาลทหารเมียนมาเลือกใช้แทนธนาคารที่ถูกคว่ำบาตร โดยที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งของประเทศไทย ได้ยอมรับในกรรมาธิการความมั่นคงฯ ว่าบัญชีของ MEB ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน แต่มีมูลค่าไม่มาก แต่สิ่งที่สำคัญไม่ใช่มูลค่าที่มีการทำธุรกรรม แต่คือมีการใช้ธุรกรรมลักษณะนี้ในการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ผ่านระบบธนาคารของประเทศไทย

ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ที่ผ่านมา ได้รับสัญญาณบวกจากหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ทั้ง ปปง. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ปัญหาคือแม้ทั้งสองหน่วยงานมีความตั้งใจ แต่หากรัฐบาลไม่สามารถให้คำยืนยันหรือข้อสั่งการที่ชัดเจนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ หน่วยงานต่างๆ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อยากทราบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไรต่อจากนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างเพื่อตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ปรากฏในรายงาน และมีผลการตรวจสอบอย่างไร

ด้าน รมว.กต. กล่าวตอบว่ารัฐบาลไทยมีความชัดเจนในนโยบายและจุดยืน ที่จะไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้ธุรกรรมธนาคารในการกระทำที่เป็นการขัดต่อกฎบัตรองค์กรระหว่างประเทศ ที่ผ่านมา กต.ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอบถามไปแล้ว จากรายงานดังกล่าว มีการระบุอย่างชัดเจนว่าไม่พบหลักฐานที่ระบุว่าธนาคารไทยที่ถูกอ้างถึงในรายงานรับรู้ว่าธุรกรรมดังกล่าวเป็นการจัดซื้อยุทธภัณฑ์ หรือมีกองทัพเมียนมาเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สุดท้าย และไม่พบหลักฐานว่ารัฐบาลไทยมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับรู้เกี่ยวกับธุรกรรมดังกล่าว

รังสิมันต์ ได้ถามกลับว่าเมื่อวันนี้รู้แล้วว่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นนำไปสู่การซื้อขายอาวุธและเอาไปใช้เข่นฆ่าประชาชนเมียนมา รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ได้เชิญผู้รายงานพิเศษไปให้ข้อมูลแล้วหรือยัง สิ่งที่ต้องการมากกว่าคำพูดคือการกระทำในปี 2023 ก็มีรายงานในลักษณะเดียวกันออกมาซึ่งขณะนั้นสิงคโปร์เป็นแหล่งการทำธุรกรรมเพื่อจัดซื้ออาวุธที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของรัฐบาลทหารเมียนมา แต่เมื่อมีการตรวจสอบการจัดซื้ออาวุธผ่านบริษัทสิงคโปร์ก็ลดลงจากเดิม 110 ล้านเหรียญเหลือ 10 ล้านเหรียญ ในปีเดียวกัน หรือลดลงกว่า 90% ขณะที่สัดส่วนของการทำธุรกรรมของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ทำผ่านสถาบันการเงินของสิงคโปร์ในปี 2022 จากเดิมที่มีสัดส่วนกว่า 70% ลดเหลือเพียง 20% ในไตรมาสแรกของปี 2023

รังสิมันต์กล่าวต่อไป สำหรับกรณีของประเทศไทย เดิมการจัดซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารเมียนมาผ่านบริษัทไทยมีมูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐในปีงบประมาณ 2022 แต่เพิ่มขึ้นเป็น 130 ล้านเหรียญสหรัฐในปีงบประมาณ 2023 โดยมีธนาคารประมาณ 5 แห่ง เกี่ยวข้องกับธุรกรรมในการจัดซื้ออะไหล่อากาศยานที่นำมาใช้โจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายพลเรือน ซึ่งในหลายกรณีมีการล้ำแดนประเทศไทยเข้ามาด้วย

ในปี 2021 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งครั้งนี้ไปแล้ว 5,000 คน มีผู้พลัดถิ่นจากสงครามราว 3 ล้านคน จำนวนนับล้านหนีมาอยู่ในประเทศไทย และยังมีกรณีนักโทษการเมืองกว่า 20,000 คน ตนเข้าใจดีถึงจุดยืนและความลำบากของรัฐบาลไทย แต่ตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์มา ไทยเคยงดออกเสียงให้กับมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนมิถุนายน 2021 คำถามคือรัฐบาลไทยในวันนี้จะมีจุดยืนอย่างไร

นายมาริษ ตอบว่ารัฐบาลไทยมีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ผู้แทนถาวรไทย ณ นครเจนีวาได้ทั้งชี้แจงในที่ประชุมและพูดคุยด้วยวาจากับผู้จัดทำรายงานแล้ว และได้ยืนยันว่าหากผู้เสนอรายงานพิเศษมีข้อมูลเพิ่มเติม ทางการไทยก็ยินดีรับฟังและจะนำมาใช้ในการตรวจสอบต่อไป โดย ในวันที่ 24 กรกฎาคม นี้จะมีการประชุมเพื่อติดตามตรวจสอบกรณีดังกล่าวอย่างเข้มข้น โดยตนยืนยันว่าจะพยายามทำทุกอย่างให้โปร่งใสที่สุด และเมื่อมีการตรวจสอบแล้วจะมีการส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ทราบในภายหลังต่อไป

รังสิมันต์ได้ถามต่อเว่า ก่อนหน้านี้มีรายงานฉบับหนึ่งที่ระบุถึง 254 บริษัทที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรมการซื้อขายอาวุธโดยรัฐบาลทหารเมียนมา รัฐบาลเคยได้ตรวจสอบบ้างหรือไม่ ถ้าไม่เคยขอให้ตรวจสอบได้หรือไม่ ส่วนการที่ผู้แทนถาวรไทยประจำนครเจนีวาได้พูดคุยกับผู้รายงานพิเศษด้วยวาจาอย่างเดียว ตนเห็นว่าไม่เพียงพอ เป็นไปได้หรือไม่ที่ กต.จะเชิญผู้รายงานพิเศษมาพูดคุยเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ เหมือนกับสิ่งที่สิงคโปร์ได้ทำและประสบความสำเร็จ มีบางบริษัทที่ถูกลงโทษจริง ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้โมเดลนี้ได้

สุดท้าย ไม่ใช่ทุกธนาคารของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวที่ไม่มีความเข้มงวด มีธนาคารหนึ่งที่ทำได้ดี แต่ปัญหาคือธนาคารต่างๆ มีแนวทางปฏิบัติไม่เหมือนกัน ขอให้รัฐบาลคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง สนับสนุนการทำงานของ ปปง. ก็จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้

ด้านรมว.กต. กล่าวว่า ในเรื่อง 254 บริษัท เมื่อได้รับคำร้องมาก็มีการดำเนินการไปตรวจสอบหลายกรณี ทุกบริษัทที่ติดต่อมีการให้ความร่วมมือดี รัฐบาลไม่ได้ละเลยและจะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป ส่วนกรณีการเชิญผู้รายงานพิเศษ ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเหมาะสมในเรื่องการต่างประเทศและผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งตนจะขอรับไปพิจารณาเพื่อให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและสอดคล้องกับเป้าหมายต่อไป

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #พรรคก้าวไกล #รังสิมันต์โรม #ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ #รัฐบาลทหารเมียนมา