“ธนาธร” กระตุ้นสังคมให้ใช้ สื่อ-ศิลป์ ปกป้องเสรีภาพ-เปลี่ยนแปลงประเทศ

120

ที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ปาฐกถาพิเศษ “สื่อ ศิลปะ อำนาจ และเสรีภาพ” Syntopia: The National Symposium on Media Arts and Design โดยระบุว่า ‘สื่อ’ และ ‘ศิลปะ’ มีลักษณะสะท้อนความจริง สะท้อนความหวัง และบางครั้งก็สะท้อนความโหดเหี้ยมของมนุษย์ในช่วงเวลาแห่งความมืดมิด จากสื่อใบปลิวที่ปลุกคนให้ลุกขึ้นมาปฏิวัติในศตวรรษที่ 18 จนถึงสื่อทวิตเตอร์ของโดนัลด์ ทรัมป์ กระตุ้นให้ผู้คนลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ส่วนงานศิลปะก็ทำให้คนกล้าฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า

ผู้มีอำนาจและผู้นำเผด็จการรู้ดีว่าเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเป็นภัยคุกคามของพวกเขา ประชาชนที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกย่อมกล้าตั้งคำถาม ย่อมกล้าเรียกร้องความรับผิดชอบต่อผู้นำ ย่อมกล้าขัดขืนและต่อต้าน กำลังอำนาจแบบดิบๆ หรืออำนาจที่บังคับใช้จากกฎหมายนั้นผูกมัดประชาชนไว้ได้เพียงชั่วคราว แต่ความคิดสามารถดำรงอยู่ชั่วกาล ดังนั้นผู้มีอำนาจจึงต้องการควบคุมความคิด ทั้งวัฒนธรรม บทละคร บทเพลง บทกวี ศิลปะ เช่นกัน

ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ในขณะเดียวกันเราก็เห็นผู้ที่ด้อยอำนาจ มุ่งเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนเช่นกัน เช่นในวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม หรือวันเมย์เดย์ เป็นวันที่ผู้คนทั่วโลกหยุดงานพร้อมกันมากที่สุด แต่มีความพยายามเปลี่ยนแปลงจากรัฐไทยเพื่อลดทอนความแหลมคม ลดทอนประวัติศาสตร์และลดทอนสำนึกทางชนชั้นลงเป็นเพียง “วันแรงงานแห่งชาติ” นี่คือการเปลี่ยนคำ เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนคน หากผู้มีอำนาจใช้ซอฟท์พาวเวอร์ในการคุมคน เราก็สามารถใช้อำนาจนี้เปลี่ยนความคิดคนได้เช่นกัน ทั้งนักคิด นักเขียน ศิลปิน โดยตนขอยกตัวอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ มีข้อเขียน “สรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานคร” ที่มีทั้งการเสียดสี และการปลุกกำลังใจผู้คนให้ออกมาเปลี่ยนแปลง

นายธนาธรได้ยกคำพูดของ อาร์คบิชอป เดสมอน ตูตู เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2023 ว่า “ถ้าคุณเป็นกลางในสถานการณ์อยุติธรรมเอารัดเอาเปรียบ คุณอยู่ข้างผู้กดขี่ ถ้าช้างเอาเท้าเหยียบหางหนูอยู่แล้วคุณบอกคุณเป็นกลาง หนูคงไม่ซาบซึ้งกับความเป็นกลางของคุณเท่าไหร่นัก”

เขากล่าวถึงหลักการเสรีภาพ ว่าเสรีภาพเป็นเสาหลักของประชาธิปไตย และเสรีภาพคือพื้นฐานของนวัตกรรม ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องการพื้นที่ที่เปิดกว้างในการนำเสนอ แต่ตอนที่คุณอยู่ในโรงเรียน รู้สึกปลอดภัยหรือไม่ที่จะยกมือสอบถามครู ถ้าไม่รู้สึกปลอดภัย ก็เลิกคิดถึงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปได้เลย

โดยธนาธรกล่าวถึงนายอานนท์ นำภา ที่เป็นศิลปินและทนายความ โดยเขาเป็นทนายความให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ์ เป็นทนายความให้กับผู้ที่ถูกกดขี่ อานนท์เดินทางไปว่าความทั่วประเทศให้ผู้คน ทั้งประเทศรู้จักอานนท์ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 การชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือ ‘ม็อบแฮรี่พอตเตอร์’ ที่กล่าวถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่มาพร้อมความสุภาพแต่ก็ไม่ทิ้งอารมณ์ขัน อานนท์เป็นผู้มีความสามารถในการเขียนบทกวีและร้องเพลง วันนี้อานนท์ถูกจับกุมคุมขังด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเขาอยู่ในคุกมาแล้ว 280 วัน สำหรับตน คำปราศรัยของอานนท์แต่ละครั้งไม่ใช่แค่การปราศรัยทางการเมือง แต่คือการร่ายบทกวีเพื่อโน้มน้าวผู้คนเพื่อให้กล้าคิดกล้าฝันถึงประเทศไทยที่ดีกว่า

สุดท้าย ธนาธรกล่าวเชิญชวนผู้ฟังว่า “ผมขอเรียกร้องให้ทุกท่านในที่นี้ จงใช้เสียง จงใช้ปากกา จงใช้พู่กัน จงใช้กล้อง จงใช้เมาส์ของคุณ ปกป้องเสรีภาพ เพื่อส่องทางสว่างให้กับสังคมไทย เพื่อลูกหลานของเราเติบโตขึ้นมาจะได้ไม่เจอกับเผด็จการและความโหดเหี้ยมของมนุษย์”

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #ธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ #คณะก้าวหน้า #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #อานนท์นำภา #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์