พระเกจิคณาจารย์ผู้แตกฉานสรรพวิชา จนแม้แต่ยาสั่งยังทำอะไรท่านไม่ได้ หลวงพ่อเหลือวัดสาวชะโงก จังหวัดฉะเชิงเทรา อ่านสนุกแบบมีทั้งศรัทธาและพาณิชย์ไปกับ คอลัมน์พระบ้าน by ต้นคนชอบพระ
ยาแก้ยาเบื่อยาสั่งถอนคุณไสยทั้งปวง
(1)ว่านหางช้าง 7 ใบ ลงด้วยพระเจ้า 16พระองค์
(2)ว่านน้ำ 7 ใบ ลงด้วยอะสังวิสุโลปุสะพุภะ
(3) แก่นมะเกลือ ลงด้วยจะภะกะสะ
(4) แก่นปรู ลงด้วยประจุขาด
(5) แก่นขนุน ลงด้วยสังวิธาปุกะยะปะ
(6) รากท้าวยายม่อม ลงด้วยพุทธะสังมิ
(7) รากสลอดน้ำ ลงด้วยอิกะวิติ
(8) รากตองแตก ลงด้วยนะมะพะทะ
(9) ข่า 5 ชิ้น ลงด้วยนะโมพุทธายะ
(10) อ้อยแดง 3 ข้อ ลงด้วยมะอะอุ
(11) ยาดำหนัก 1 บาท
** ทั้งหมดรวมกันต้มรับประทาน
ขอบคุณข้อมูลจากไฟล์เอกสารงานปลงศพพระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก จ.ฉะเชิงเทรา)
ในวาระหนึ่งหลวงพ่อเหลือเดินทางไปธุดงค์จัดขบวนรุกขมูล ได้มีลูกศิษย์ติดตามเดินทางไปด้วยจำนวนหนึ่ง เป็นการเดินธุดงค์ไปเขมร โดยใช้เส้นทางจังหวัดปราจีนบุรี หลวงพ่อเหลือและคณะเดินทางมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัด ปราจีนบุรี เนื่องจากเป็นเวลาเย็นย่ำ ท่านกับลูกศิษย์จึงได้ตัดสินใจพักปักกลดที่หมู่บ้านแห่งนี้ ชาวบ้านในหมู่บ้านพอเห็นว่ามีพระธุดงค์มาปักกลดต่างก็ดีอกดีใจ ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ครั้นพอรุ่งเช้า ชาวบ้านต่างก็นำข้าวปลาอาหารมาทำบุญใส่บาตรกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง หลวงพ่อเหลือกับคณะศิษย์ถูกนิมนต์ให้อยู่พักที่หมู่บ้านนี้หลายวัน จนวันหนึ่งหลวงพ่อเหลือและคณะเห็นว่าควรจะต้องเดินทางต่อหลวงพ่อและคณะก็เก็บสัมภาระ เตรียมพร้อมที่จะเดินทางกลับ หลวงพ่อเหลือบอกลาญาติโยม และให้พร ขณะนั้นมีชายเชื้อสายเขมรคนหนึ่งมากราบหลวงพ่อเหลือ ชายผู้นี้ได้ถวายกาแฟร้อนผสมยาสั่งให้หลวงพ่อเหลือฉัน ในกาแฟแก้วนั้นผสมด้วยยาพิษที่กำกับด้วยอาคม หากใครได้ดื่มกินไปแล้วไปกินอาหารอะไรที่คนวางยาสั่ง( กำหนด )ไว้ต้องตายทันที เรียกสั้นๆว่ายาสั่ง โดยชายชาวเขมรใจบาปคนนี้หวังจะทดสอบสรรพวิชาของหลวงพ่อเหลือว่าจะแก่กล้าจริงหรือไม่ หลวงพ่อเหลือรับประเคนกาแฟแก้วนั้น แต่เมื่อลูกศิษย์เห็นได้บอกกับหลวงพ่อว่าอย่าฉันกาแฟแก้วนั้นเลย แต่หลวงพ่อเหลือท่านบอกกับลูกศิษย์ว่า “รู้แล้ว” โยมเขานำมาถวายจะขัดศรัทธาเขาทำไม แล้วหลวงพ่อเหลือก็ฉันกาแฟแก้วนั้นจนหมด แม้รู้ว่าเป็นยาสั่ง จากนั้นหลวงพ่อท่านก็เดินทางกลับวัดสาวชะโงก โดยไม่ดื่มหรือฉันอะไร ระหว่างทางแม้แต่อย่างเดียว พอมาถึงวัดสาวชะโงกท่านได้ปรุงยาถอนพิษยาสั่งด้วยสมุนไพรและบริกรรมคาถาที่ใช้ถอนอาคมที่กำกับไว้จนพิษยาสั่งที่ใส่มานั้นหมดฤทธิ์ลงทันที เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่าหลวงพ่อเหลือท่านเป็นพระผู้มีจิตเมตตา เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และแตกฉานในสรรพวิชาทั้งสมุนไพรยาพื้นบ้านและอาคมที่แก่กล้ายากที่ผู้ใดจะเสมอเหมือน
( รูปหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก จ.ฉะเชิงเทรา )
พระครูนันทธีราจารย์ หรือ หลวงพ่อเหลือ นันทสาโร มีนามเดิม เหลือ รุ่งสะอาด เป็นชาวฉะเชิงเทราโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 9 ก.ค. พ.ศ.2405 ที่ ต.บางเล่า อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา บิดา-มารดา ชื่อ นายรุ่ง-นางเพชร รุ่งสะอาด
ในช่วงก่อนอุปสมบทหลวงพ่อเหลือเป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยงานบิดามารดาและญาติพี่น้องจนเป็นที่รักใคร่ของทุกคน เมื่อถึงวัยอันควรในปีพ.ศ.2428 เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดสาวชะโงก อ.บางคล้า โดยมี พระอาจารย์คง วัดใหม่บางคล้า เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการขิก วัดสาวชะโงก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์โต วัดสาวชะโงก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา นันทสาโร
โดยก่อนที่จะอุปสมบทระหว่างทางที่มาวัดสาวชะโงกมีคู่อริมาดักรอระหว่างทางตะโกนท้าทายให้มาตีกันก่อน ซึ่งนาคเหลือ ก็ถือเป็นนักเลงจริงคนนึงสั่งให้กลับเรือขอไปตีกับอริให้เรียบร้อยก่อนค่อยไปบวช ( นี่แดงไบเล่หรือนาคเหลือครับเนี่ย ) แต่ญาติผู้ใหญ่ที่มาด้วยกลัวจะเกิดเรื่องใหญ่เดี๋ยวจะไม่ได้บวชจึงรีบจ้ำเรือไปวัดสาวชะโงกทันฤกษ์บวชในที่สุด หลังอุปสมบทพระภิกษุเหลือได้ศึกษาอักษระขอมบาลีและวิปัสสนากัมมัฏฐาน จากพระอธิการขิก พระกรรมวาจาจารย์ ผู้มีวิทยาคมเข้มขลังแห่งวัดสาวชะโงกจนแตกฉาน จากนั้นเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์กับพระเกจิผู้ทรงคุณอีกหลายสำนัก อาทิ หลวงพ่อดำ วัดกุฎี จ.ปราจีนบุรี และ หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี เป็นต้น หลวงพ่อเหลือท่านยังเป็นสหธรรมิกกับพระเกจิชื่อดังในยุคนั้นอีกหลายรูป อาทิ หลวงพ่อเสือ วัดไผ่สามกอ ผู้เข้มขลังด้านการทำน้ำมนต์, หลวงพ่อนก วัดสังกะสี ศิษย์หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน, หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ และอีกหลายท่าน
หลวงพ่อเหลือเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย สมถะ มีเมตตาสูง มุ่งทำนุบำรุงพุทธศาสนา สร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุต่างๆ ภายในวัดสาวชะโงก และยังเผื่อแผ่ไปยังวัดวาอารามอื่นๆ ใน จ.ฉะเชิงเทรา และใกล้เคียง ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระลูกวัด จนเมื่อปี พ.ศ.2461 ได้รับแต่งตั้งเป็น รองเจ้าอาวาสวัดสาวชะโงก จนในปีพ.ศ.2474 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสาวชะโงก ปกครองและพัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง จนวัดเจริญรุ่งเรืองเป็นที่เชิดหน้าชูตา อีกทั้งยังได้สร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นที่วัดสาวชะโงก ชื่อ โรงเรียนวัดสาวชะโงก (นันทประชาสรรค์)
เนื่องจากหลวงพ่อเหลือเป็นพระเกจิที่มีคุณวิเศษในหลายด้าน มักได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลในพิธีใหญ่ๆเสมอ เช่น เมื่อครั้งสงครามอินโดจีน ก็เป็น 1 ในพระเกจิที่สร้างผ้ายันต์แดง แจกทหาร ที่ร่วมรบในสงคราม แต่วัตถุมงคลที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักกันในนักนิยมสะสมวัตถุมงคลก็คือ ปลัดขิก หลวงพ่อเหลือท่านมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ม.ค. พ.ศ.2488 เวลา 04.00 น. ด้วยโรคประจำตัวและความชรา
( รูปเหรียญหลวงพ่อเหลือ ปี พ.ศ. 2516 )
และเมื่อกล่าวถึงวัตถุมงคลของหลวงพ่อเหลือนั้นมีมากมายหลายสิ่งนักที่เด่นๆเลย คือ ปลัดขิก จัดเป็นเครื่องรางที่อยู่ในเบญจภาคีเครื่องรางของไทย ซึ่งราคาก็สูงลิ่วเช่นกัน แต่วัตถุมงคลอื่นๆของท่านที่ทันท่านกับที่ทางวัดจัดสร้างแล้วใช้ดีก็มีอีกไม่น้อย วันนี้เลยอยากจะแนะนำของดีราคาไม่แรงอย่างเหรียญหลวงพ่อเหลือ ปี2516 ที่ทางวัดสาวชะโงก จัดสร้างโดยเหรียญนี้แม้เป็นเหรียญที่ไม่ทันหลวงพ่อเหลือสมัยยังดำรงค์ขันธ์แต่ทางวัดได้นำเข้าร่วมพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลที่มีเกจิที่จัดได้ว่าเข้มขลังด้วยพลังแห่งจิตในยุคนั้นมาปลุกเสกอย่างเต็มกำลัง อาทิเช่น หลวง ปู่ทิม วัดละหารไร่ หลวงพ่อทอง วัดก้อนแก้ว หลวงพ่อโด่ วัดนามะตูม เป็นต้น เหรียญหลวงเหลือ ปี พ.ศ.2516 รุ่นนี้ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อเหลือ ด้านหลังเป็นยันต์สามเหลี่ยมหรือยันต์ใบพัด โดยอุปเท่ห์ของยันต์สามเหลี่ยมนั้น มีความหมายว่าเป็นพระรัตนตรัย ส่วนทางศาสนาพราหมณ์หมายถึง เป็นมหาเทพทั้ง 3 ของศาสนาพราหมณ์ คือ องค์มหาเทพพรหม องค์นารายณ์มหาเทพและองค์มหาเทพศิวะ เรียกว่าเหรียญเดียวมีครบทั้งพุทธคุณและเทพฤทธิ์ แถมสนนราคาก็ไม่แพงสวยๆก็หลักพันกลางถึงพันต้นหย่อนสวยหน่อยก็หลักร้อยครับผม เป็นของดีที่น่าใช้น่าเก็บเป็นอย่างยิ่งครับ
คราวหน้ามาลุ้นกัน ว่าจะนำเสนอองค์ไหนหรือตำนานอะไรครับ
เขียนโดย ต้น คนชอบพระ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก สื่อโซเซี่ยล ครับ
ปล. หากมีวัด ศาสนถาน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯใดที่ต้องการประชาสัมพันธ์การขายวัตถุมงคลหรือบริจาคเพื่อการกุศลอย่างแท้จริง ทางคอลัม์พระบ้าน ยินดีประชาสัมพันธ์ให้ฟรีครับ
สนใจลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ ติดต่อ 0818214442 ต้น