เสมือนเป็นการตบหน้านักวิจารณ์หรือนักวิเคราะห์คดีความต่างๆฉาดใหญ่ เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง พิพากษายกฟ้องจำเลย 6 คนและลงโทษ 2 คน ในฐานความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สนับสนุนช่วยเหลือให้ผู้ต้องหามิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงโดยเปลี่ยนความเร็วและการไม่สั่งฟ้องคดี

เพราะก่อนคดีนี้จะถูกนำส่งพนักงานอัยการ และนำขึ้นสู่ศาล นักวิจารณ์เหล่านี้ได้แสดงความเห็นเชิงชี้นำสังคมในลักษณะใช้ข้อมูลจากสื่อมวลชนนำเสนอมาต่อจิ๊กซอว์วิเคราะห์เป็นตุเป็นตะผสมกับมโนเอาเองว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดจริง โดยที่ไม่ได้มีข้อมูลอย่างรอบด้าน
การแสดงบทบาทในลักษณะนี้อาจมาจากหลายสาเหตุ อาทิ หิวแสงหวังสร้างเครดิตให้กับตัวเองหรืออาจจะมีความอิจฉาอยู่ใจก็เป็นได้ เพราะจำเลยล้วนแต่เป็นบุคคลมีชื่อเสียง ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในคดีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดงขับรถชนตำรวจสน.ทองหล่อเสียชีวิต
ต่อมามีการ้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภานิติบัญญัติแห่งขาติ(สนช.) เพื่อขอความเป็นธรรม กระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สมัยนั้นตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้รื้อฟื้นคดีใหม่ จนกลายมาเป็นคดีฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง
โดยช่วงปี 2567 อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร.และอดีต สนช. จำเลยที่ 1 พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข อดีตผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง จำเลยที่ 2 พ.ต.อ.วรดล ทับทิมดี อดีตพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ จำเลยที่ 3 นายชัยณรงค์ แสงอร่าม อดีตพนักงานอัยการคดีพิเศษ กองคดีอาญา 6 จำเลยที่ 4 นายธนิต บัวเขียว อดีตทนายความนายวรยุทธ จำเลยที่ 5 นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีตสมาชิกวุฒิสภา จำเลยที่ 6 นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำเลยที่ 7 และนายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด จำเลยที่ 8
โดยกล่าวหาว่าระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2563 จำเลยทั้ง 8คน ทำผิดกฎหมายหลายบทต่างกัน จำเลยที่ 1-3 อาศัยเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมกับจำเลยที่ 4-7 สมคบกันกระทำความผิด ด้วยร่วมกันวางแผนเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์ที่นายวรยุทธ ขับขี่ในวันเกิดเกิดเหตุ เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์คันที่ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ ขับขี่เสียชีวิต จากความเร็วของรถยนต์ 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง มาเป็นความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยใช้อิทธิพล บังคับ กดดัน โน้มน้าว พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์(สบ2)ยึดถือการการคำนวรความเร็วตามที่จำเลยที่ 7 นำเสนอ
จำเลยที่ 8 ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ เลือกหยิบพยานหลักฐานดังกล่าวมาพิจารณา ทั้งที่อดีตอัยการสูงสุดและอดีตรองอัยการสูงสุด ได้วินิจฉัย ไว้ก่อนแล้วว่า ไม่ควรนำมารับฟังเนื่องจากไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ โดยมิได้ให้เหตุผลหักล้างหรือแสดงผลเป็นอย่างอื่นและไม่รับฟังพยานหลักฐานอื่นในสำนวนที่มีนำหนักน่าเชื่อถือ
จำเลยทั้ง 8 ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ในระหว่างไต่สวนศาลเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ โจทย์และจำเลย อ้างพยานบุคคลเกือบ 100 ปาก พยานเอกสารกว่า 40,000 แผ่น นอกจากนี้ฝ่ายจำเลยได้อ้างพยานบุคคลเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความเร็วจากประเทศออสเตรเลีย และระดับศาสตราจารย์และด็อกเตอร์ทางฟิสิกส์ในประเทศ 4 คน มีการจำลองย้อนรอยอุบัติเหตุ สถานการณ์ชนจริง ใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ที่ทันสมัยเปรียบเทียบการคำนวณความเร็วแบบต่างๆ ตามหลักวิชาการเพื่อให้เห็นข้อแตกต่าง ๆ
ศาลใช้เวลาไต่สวน 7 วันนัด เปิดโอกาสให้คู่ความแถลงปิดคดี 30 วัน รวมเวลาคดีนี้ขึ้นสู่ศาล 7 เดือน กระทั่งศาลมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 22 เมษายน จำคุกจำเลยที่ 4 กำหนด 2 ปี จำเลยที่ 8 กำหนด 3 ปี ยกฟ้อง จำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 5ถึง 7
พลันที่ข่าวพิพากษาแพร่ออกไปตามสื่อต่างๆ มีอาการขัดใจของคนในสังคมบางส่วนที่เคยเสพข่าวของนักวิเคราะห์ทั้งหลายที่เก็บข้อมูลจากสื่อแล้วนำไปแสดงความเห็นในเชิงที่จำเลยทั้งแปดต้องรับโทษ
แต่ถ้าผู้อ่านมีโอกาสได้อ่านคำพิพากษาอย่างย่อของศาล ที่ให้เหตุผลตรรกะไล่เรียงถึงข้อเท็จจริงด้วยข้อกฎหมายที่หนักแน่น จะต้องยอมรับว่าเป็นคำพิพากษาที่น่าสนใจควรศึกษา และต้องยอมรับว่าศาลเป็นผู้รับข้อเท็จจริงพยานหลักฐาน ข้อโต้แย้งจากโจทก์และจำเลยมากกว่าใครจนฟังเป็นข้อยุติ ย่อมเป็นผู้รู้มากที่สุดกว่าชาวโซเซียลแน่นอน !!!
ติดตามตอนที่ 2 จะนำเสนอรายละเอียดการพิเคราะห์ของศาลที่พิพากษายกฟ้องจำเลย 6 คนและให้จำคุก 2 คน
