“พร้อมพงศ์” อดีตโฆษกเพื่อไทย ร้อง DSI ตรวจสอบ 7 บริษัท หวั่นฮั้วประมูลโครงการจัดซื้อระบบคลาวน์ สาธารณสุข เสียหายอื้อ 1,000 ล้าน จี้ เรียกผู้บริหารและพนักงานบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ สอบปากคำ พร้อมตั้งข้อสังเกต ตอนเสนอราคามี 7 บริษัท พอเข้าสู่ขั้นตอนเปิดซอง ถอนตัวไป 5 บริษัท เหลือแข่งกัน 2 บริษัท เฉือนชนะกันเพียงล้านบาท
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 ก.ค. ที่ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ดำเนินการตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่งในความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ เบื้องต้นพบมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมี ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องเรียน
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้ตนยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้สอบสวนและดำเนินคดีกับผู้บริหารและพนักงานบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กรณีอาจเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ ในโครงการจัดซื้อระบบคลาวน์ของกระทรวงสาธารณสุข งบประมาณเกือบ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าน่าจะมีการสมยอมราคา (ฮั้ว) ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการจัดหา โดยในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ เลือกใช้วิธีการเชิญชวนเฉพาะแทนวิธีการประกวดราคา (e-Bidding) และได้เชิญบริษัทเข้ามาเสนอราคาเพียง 7 บริษัท และปรากฏว่าใน 7 บริษัท มีรายชื่อบุคคลคนเดียวกันเป็นกรรมการอยู่ 3 บริษัท และมีรายชื่อบุคคลคนเดียวกันเป็นผู้ถือหุ้น 2 บริษัท นอกจากนี้ ในขั้นตอนการเสนอราคา มี 5 บริษัทถอนตัวออกไป เหลือเพียง 2 บริษัท โดยบริษัทที่ชนะการประมูลเสนอราคา 991,136,720 บาท ส่วนบริษัทที่แพ้การประมูลเสนอราคาที่ 992,805,920 บาท ซึ่งมีราคาต่างกันเพียง 0.16% เท่านั้น เข้าข่ายพฤติการณ์น่าสงสัยว่ามีการฉ้อโกงและทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัทที่เหลือทราบว่ามีหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัทที่ชนะการประมูล เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในอีกบริษัทที่เคยค้าร่วมกับบริษัทที่แพ้การประมูล จึงน่าจะไม่ใช่คู่แข่งทางการค้า แต่น่าเชื่อว่าการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้ เข้าข่ายการสมยอมราคากันหรือไม่
นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า เรื่องดังกล่าว ตนได้รับการร้องเรียนมาจากคนในหน่วยงานที่ทราบข้อมูลดังกล่าว และบางส่วนได้มีการร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน แต่กลับไม่มีความคืบหน้า แต่พอมาร้องกับตน ตนจะไม่เงียบแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ตนก็ต้องตรวจสอบหากมีการทุจริต ส่วนความประสงค์ในวันนี้ตนต้องการให้ดีเอสไอดำเนินการเรียกเอาพยานเอกสารของโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาขยายผลตรวจสอบเพิ่มเติม และขอให้เรียกผู้บริหารและพนักงานบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT มาสอบถามข้อมูลข้อเท็จจริง ส่วนในสัปดาห์หน้าตนจะนำเรื่องไปยื่นต่อ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เมื่อถามว่าทั้ง 7 บริษัทที่เข้ายื่นเสนอราคา จดทะเบียนบริษัทประกอบกิจการอะไรบ้าง และเคยประมูลได้งานโครงการของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่นั้น ดร.พร้อมพงศ์ กล่าวว่า ทราบว่าทั้ง 7 บริษัทมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของระบบคลาวน์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ผู้บริหาร NT ต้องถูกตรวจสอบ เพราะโครงการยังไม่ได้ถูกดำเนินการ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างรองบประมาณ ถ้าไม่ตรวจสอบตั้งแต่ตอนนี้อาจมีความเสียหายเกิดขึ้นตามมาแน่นอน
นายพร้อมพงศ์ กล่าวด้วยว่า หากใครมีเอกสารหลักฐานการทุจริตในโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม ก็สามารถมายื่นกับตนได้ ตนจะติดตามเรื่องให้ เพราะนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำเรื่องการปราบปรามการทุจริตผิดกฎหมาย แต่ในวันนี้ตนมาร้องให้ตรวจสอบโครงการดังกล่าวในฐานะส่วนตัวเท่านั้น
นายพร้อมพงศ์ ระบุด้วยว่า ส่วนเรื่องที่ 2 ที่ตนต้องการให้มีการตรวจสอบเกิดขึ้น คือ ในกรณีอาจมีการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารและพนักงานบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เนื่องจากพบความไม่ชอบมาพากลในหลายเรื่องอย่างที่เห็นได้ตามการนำเสนอของสื่อหลากหลายสำนัก โดยเฉพาะในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการจับกุมแก๊งตัดสายไฟเคเบิลในหลายพื้นที่ ซึ่งสายเคเบิลนี้เป็นของ บริษัท NT ที่ไม่ใช้แล้ว และคนที่ขโมยไปก็เอาไปเผาเอาทองแดงข้างในไปขาย มูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท ทั้งที่บริษัท NT ควรจะขุดสายเคเบิลที่ไม่ใช้แล้วเหล่านั้นที่อยู่ใต้ดินนำมาประมูลขายเองมากกว่า เพื่อเงินที่ได้จะได้นำเข้ารัฐ นอกจากนี้ การขุดเอาสายไฟเคเบิลที่อยู่ใต้ดินที่ปรากฏตามข่าวส่วนใหญ่เป็นการขุดแค่เพียง 30% แต่มีมูลค่าคิดเป็น 1,000 ล้านบาทคาดว่ามีการทำเป็นขบวนการ เนื่องจากคนทั่วไปจะไม่รู้ได้ว่าสายไฟเคเบิลเหล่านั้นถูกวางไว้บริเวณใต้ดินอย่างไร แต่อาจจะมีคนในหน่วยงานร่วมกับคนภายนอกที่รู้ข้อมูลและผังใต้ดิน รวมถึงทราบว่ามีคนมีสีเข้ามาเกี่ยวข้อง หากมองเช่นนี้แล้วผู้บริหารของบริษัท NT ปล่อยปละละเลยให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นได้อย่างไร
ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าตนจะนำทั้ง 2 เรื่องไปยื่นให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ โดยถ้าหากเชื่อมโยงไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ตนก็จะไปยื่นหนังสือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป
ด้าน ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการของดีเอสไอภายหลังจากรับเรื่องร้องเรียนในวันนี้ ตามที่ผู้ร้องเรียนได้มีการขอให้ตรวจสอบระบบการประมูลโครงการจัดซื้อระบบคลาวน์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยขอให้มีการตรวจสอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่บริษัท NT โดยดีเอสไอจะนำเรื่องเข้าสู่กองบริหารคดีพิเศษ ซึ่งจะเป็นชั้นคัดกรองเรื่องก่อนพิจารณาและประมวลเสนอไปยังรักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้มีการมอบหมายให้กองคดีฮั้วประมูล ดำเนินการตั้งเลขสืบสวนข้อเท็จจริงและรายละเอียดเพิ่มเติม ส่วนจะต้องมีการเรียกทั้ง 7 บริษัทเข้ามาสอบปากคำในฐานะพยานหรือไม่ ตนยืนยันว่าหากเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว อย่างไรก็จะต้องมีการเรียกมาสอบปากคำ แต่ขั้นตอนในปัจจุบันนี้ขอให้เป็นการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงก่อน จึงจะได้มีการพิจารณารับเป็นคดีพิเศษต่อไป