ขึ้นทะเบียนเกษตรกรรักษาสิทธิ์รับโอกาสการช่วยเหลือจากรัฐ
นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมฯรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรในกลุ่มผู้ปลูกพืช ทำไร่นาสวนผสม ทำนาเกลือสมุทร และเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ เพื่อให้มีฐานข้อมูลเกษตรกรทั้งประเทศ ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรและยังมีสถานะการเป็นเกษตรกรอยู่ 6.9 ล้านครัวเรือน และมีสมาชิกครัวเรือน 11 ล้านราย รวมทั้งหมด 17.9 ล้านราย โดยในปี 66 มีเกษตรกรปรับปรุงข้อมูลกิจกรรมการเกษตร 6 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 147 ล้านไร่ (นับพื้นที่แบบสะสม) จึงได้จัดงานแถลงข่าวการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 67 ขึ้น เพื่อเป็นการ Kick off การรณรงค์ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 67 พร้อมกันทั่วประเทศ
โดยได้รับเกียรติจากนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ มาเป็นประธานการแถลงข่าว
“ในปี 67 กรมฯเน้นการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรแจ้งข้อมูลปรับปรุงกิจกรรมการเกษตร ตามข้อเท็จจริงด้วยตนเองผ่าน Mobile Application และWeb Application และร่วมบูรณาการใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และร่วมพัฒนาระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ในการรวมบริการต่าง ๆ ของภาครัฐสำหรับประชาชนผ่าน “แอปพลิเคชัน ทางรัฐ” และ “แอปพลิเคชัน ThaID” ของกรมการปกครอง เพื่อความสะดวกของเกษตรกร และยังสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งบริหารจัดการและบำรุงรักษาฐานข้อมูลหลัก และระบบที่เกี่ยวข้อง สำหรับให้บริการบันทึกข้อมูลและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อให้ทะเบียนเกษตรกรมีข้อมูลที่ครบถ้วน นำไปสู่การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเกษตร จัดทำสารสนเทศด้านการเกษตรในภาพรวมของประเทศ สามารถนำไปเผยแพร่บูรณาการใช้ประโยชน์ได้ทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นข้อมูลประกอบโครงการและมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด” นายครองศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมกับการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องมาใช้ เช่น การตรวจสอบข้อมูลพื้นที่และขอบเขตเอกสารสิทธิ์ น.ส. 4 จากกรมที่ดิน การตรวจสอบข้อมูลบุคคล จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบและดึงข้อมูลเกษตรกรจากทะเบียนราษฎร ผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งเป็นการบูรณาการฐานข้อมูลกับหน่วยงานภายนอกด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลแบบ Real Time มีการตรวจสอบการเพาะปลูกแต่ละชนิดพืช ด้วยการแปรภาพถ่ายดาวเทียมของจีสด้า รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคม โดยการติดประกาศภายในชุมชน 3 วัน หรือการทำประชาคม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจะตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลอีกครั้งด้วยเทคโนโลยีแผนที่ GIS โดยการจัดทำผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล ซึ่งทำให้ข้อมูลเกษตรกรของกรมมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้
นายครองศักดิ์ กล่าวอีกว่า การขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง มีประโยชน์ต่อทั้งตัวเกษตรกรเอง และภาครัฐ โดยเฉพาะเกษตรกร นอกจากจะสามารถนำข้อมูลไปวางแผนการทำการเกษตรฤดูกาลถัดไปแล้ว ยังมีสิทธิการเข้าถึงสวัสดิการด้านเกษตร ได้แก่ การช่วยเหลือภัยพิบัติด้านพืช การเข้าร่วมการประกันภัยพืชผลซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการหรือมาตรการนั้น ๆ การเข้าร่วมโครงการมาตรการภาครัฐอื่น ๆ และการพัฒนาความรู้และทักษะด้านอาชีพส่วนภาครัฐก็สามารถนำข้อมูลไปวางแผนพัฒนาการเกษตร การจัดการด้านการผลิตและการตลาด การส่งเสริม และสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร จากผลการดำเนินการที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือตามโครงการและมาตรการภาครัฐครอบคลุมทั้งประเทศ เช่น การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืชมากกว่า 4 แสนครัวเรือนต่อปี วงเงินช่วยเหลือ 6 พันล้านบาท โครงการประกันภัยพืชผลมากกว่า 1 แสนครัวเรือนต่อปี วงเงิน 1 พันล้านบาท โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.6 ล้านครัวเรือนต่อปี วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
จึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรไทยทุกท่านที่ทำการเพาะปลูกแล้ว 15 วัน แจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรทุกครั้งที่มีการเพาะปลูก ไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ปลูกแล้ว 30 วันหากยังยืนต้น ให้แจ้งปรับปรุงข้อมูลทุกปีรอบการขึ้นทะเบียน ให้ตรงตามความเป็นจริงและปัจจุบัน เพื่อรักษาสิทธิ์และโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยสามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช ณ สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง หรือเกษตรกรดำเนินการด้วยตนเองทางระบบออนไลน์ ผ่านระบบ e-Form ที่เว็บไซต์ https://efarmer.doae.go.th และแอปพลิเคชัน Farmbook
#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์