ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค กล่าวถึงกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาพัฒนาที่ดิน โดยระบุว่า “รถไฟใจถึงเสี่ยงเซ็นสัญญา
ประมูลที่ดินปริศนา
เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ครอบครองที่ดินสองข้างรถไฟเป็นจำนวนมาก หากมีการพัฒนาที่ดินเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ รฟท.ก็จะมีรายได้มาจุนเจือการเดินรถไฟที่ยังขาดทุนอยู่ได้ ด้วยเหตุนี้ รฟท.จึงได้เปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาพัฒนาที่ดินอยู่เป็นระยะๆ โดย รฟท.จะได้รับค่าตอบแทนจากเอกชนเป็นค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์และค่าเช่า แต่การประมูลบางครั้งมีข้อเคลือบแคลงหรือเป็นที่กังขา ดังเช่นการประมูลที่ดินแปลงหนึ่งที่ตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันมีผู้เช่าอยู่แล้วโดยใช้เป็นตลาดผลไม้ แต่มีปัญหาบางประการ รฟท.จึงได้ยกเลิกสัญญา
รฟท.ได้ประกาศเชิญชวนให้เอกชนผู้สนใจเข้าประมูลพัฒนาที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 โดยกำหนดให้เช่าที่ดินเป็นเวลา 34 ปี แบ่งเป็นการก่อสร้าง 4 ปี และการหาประโยชน์ 30 ปี ทั้งนี้ รฟท.กำหนดให้เอกชนก่อสร้างอาคารมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 11,860 ตารางเมตร และมีมูลค่าโครงการไม่น้อยกว่า 125 ล้านบาท พร้อมทั้งกำหนดให้เอกชนเสนอผลประโยชน์ขั้นต่ำแก่ รฟท. ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์ไม่น้อยกว่า 83.7 ล้านบาท และค่าเช่ารายปีไม่น้อยกว่า 1.895 ล้านบาท โดยขึ้นราคาค่าเช่าปีละ 5% จนครบสัญญา
ปรากฎว่ามีเอกชนซื้อซองเอกสารประกวดราคาจำนวน 5 ราย โดย รฟท.ได้กำหนดให้เอกชนยื่นซองเอกสารประกวดราคาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งมีเอกชนยื่นซองประกวดราคาเพียง 2 รายเท่านั้น ประกอบด้วย หจก.จงดีแทรคเตอร์ และบริษัท สาเกตุพานิชย์ จำกัด แต่บริษัท สาเกตุพานิขย์ จำกัด ถูกปรับตกไป เนื่องจากมีข้อเสนอทางเทคนิคต่ำกว่าเกณฑ์ รฟท.จึงตัดสินให้ หจก. จงดีแทรคเตอร์ เป็นผู้ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559
หลังจากนั้น ฝ่ายบริหารทรัพย์สินของ รฟท.ได้มีหนังสือเลขที่ บส./กจฉ./1201/2559 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ถึงรองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน มีใจความโดยสรุปว่า ฝ่ายบริหารทรัพย์สินได้ตรวจสอบมูลค่าโครงการตามข้อเสนอของ หจก.จงดีแทรคเตอร์แล้ว พบว่ามีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งการประมูลจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (พรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2556) แต่การประมูลโครงการนี้ รฟท.ไม่ได้ดำเนินการตาม พรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จึงได้มีหนังสือเลขที่ กค 0820.2/4752 ลงวันที่ 26 กันยายน 2560 ตอบข้อหารือของ รฟท. โดยมีใจความสรุปได้ว่า หากผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินเสนอเงินลงทุนเกินกว่ามูลค่าโครงการที่กำหนด (ในกรณีนี้เกินกว่า 1,000 ล้านบาท) รฟท.จะต้องเริ่มต้นดำเนินโครงการใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอโครงการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2556
ต่อมา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์) ได้มีบันทึกข้อความเลขที่ รฟ 1/1926/2560 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ถึงประธานคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด รฟท.) มีใจความโดยสรุปว่า ให้บอร์ด รฟท.พิจารณายกเลิกการประมูลโครงการพัฒนาที่ดินย่านสถานีขอนแก่น แล้วดำเนินโครงการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 ใหม่
เรื่องสำคัญเช่นนี้ ไม่สามารถรอดพ้นการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปได้ ด้วยเหตุนี้ สตง.จึงได้มีหนังสือเลขที่ ตผ 0018/5224 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ถึง รฟท. ความว่า “เพื่อให้การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ดินบริเวณย่านสถานีรถไฟขอนแก่นเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จึงขอให้ รฟท.พิจารณานำความเห็นของ สคร.ไปประกอบการพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด” นั่นหมายความว่า รฟท.จะต้องยกเลิกการประมูล และเปิดประมูลใหม่ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2556
ถึงแม้ว่าได้มีการทักท้วงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจากรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์) ให้ รฟท.ยกเลิกการประมูล แล้วดำเนินโครงการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 แต่ทราบมาว่าขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องใน รฟท.บางคนพยายามที่จะผลักดันให้ รฟท.ทำสัญญากับ หจก.จงดีแทรคเตอร์ให้ได้ โดยได้มีการปรับลดมูลค่าโครงการลงให้เหลือต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อไม่ต้องดำเนินโครงการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 นั่นคือไม่ต้องเปิดประมูลใหม่
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ มูลค่าโครงการลดลงจากเดิมได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ เดิม รฟท.เคยประเมินไว้ว่ามูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านบาท เมื่อเวลาผ่านไปถึงประมาณ 2 ปีครึ่ง มูลค่าควรจะสูงขึ้น แต่กลับลดลง และที่สำคัญ ทำไม รฟท.จึงกล้าเสี่ยงที่จะทำสัญญากับ หจก.จงดีแทรคเตอร์ ทั้งๆ ที่ มีข้อทักท้วงจาก สคร. สตง. และรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์) ให้ รฟท.ดำเนินการประมูลใหม่ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2556
หาก รฟท.ยังคงเดินหน้าทำสัญญาโดยไม่เปิดประมูลใหม่ ก็ต้องบอกว่า ใจถึงจริงๆ”
รถไฟใจถึงเสี่ยงเซ็นสัญญาประมูลที่ดินปริศนาเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)…
โพสต์โดย ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม 2018